โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก
กรณีที่ “ชายนอกเครื่องแบบ” เข้าตรวจค้นร้านขายของชำที่มีการขายเหล้าและบุหรี่หลบหนีภาษี ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และมีการเรียกร้องเงิน 40,000 บาท ในการไม่แจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย มีการต่อรองกันจนสุดท้ายมีการจ่ายสินบนโดยโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 12,000 บาท และนำเงินสดอีก 5,000 บาทไปใส่ไว้ในรถยนต์ของ "ชายนอกเครื่องแบบ" จำนวน 4-5 คน
หลังการจ่ายสินบนแล้ว เจ้าของร้านค้าได้มีการตรวจสอบกับ “กรมสรรพสามิต” และพบว่า “ชายนอกเครื่องแบบ” กลุ่มนี้เป็เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ที่เดินทางมาจากส่วนกลาง และหลังจากเรื่องแดงขึ้น “ชายนอกเครื่องแบบ” กลุ่มนี้มีการข่มขู่จะดำเนินคดีต่อเจ้าของร้าน มีการขอให้ลบภาพในโทรศัพท์มือถือ และขอคืนเงิน แต่เจ้าของร้านไม่ยอม มีการกู้ภาพจากกล้องวงจรปิด และนำไปแจ้งความต่อตำรวจ สภ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้
และในเวลาที่ไม่ห่างกัน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจากศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าจับกุมร้านขายบุหรี่หลบหนีภาษีในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ยึดบุหรี่หลบหนีภาษี ซึ่งดีเอสไอแถลงข่าวว่า มีมูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท
ประเด็นที่จะกล่าวถึงคือ กรณีของ "ชายนอกเครื่องแบบ" ที่เป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิตส่วนกลาง ที่มีปฏิบัติการเข้าตรวจค้นจับกุม และเรียกรับเงินจากผู้ที่ทำผิดกฎหมายเรื่องสินค้าหลบหนีภาษีเกิดขึ้นบ่อย ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัด ที่เป็นข่าวเป็นส่วนน้อย แต่ที่เจ้าหน้าที่ได้เงินเข้ากระเป๋าไปอย่างเหนาะๆ โดยไม่เป็นข่าวมีจำนวนมาก เพราะคนที่ทำผิดยินยอมที่จะจ่ายเพื่อให้จบปัญหา เพราะรู้ว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย และยอมจ่ายเพื่อการทำมาหากินได้ต่อไป และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางของกรมสรรพสามิตย่ามใจ จึงทำเป็นขบวนการ ทั้งการตรวจค้น และตบทรัพย์ในหน้างาน และเรียกเก็บส่วยแบบรายเดือนจากร้านค้าที่จำหน่ายเหล้า-บุหรี่หลบหนีภาษี
โดยข้อเท็จจริง กรรมสรรพสามิตมีหน่วยงานในภูมิภาคอยู่แล้ว ในระดับภาคมีผู้อำนวยการภาค ในภาคใต้มี ผอ.สรรพสามิตภาค 8 และภาค 9 ในระดับจังหวัดมีสรรพสามิตจังหวัด ในระดับอำเภอมีสรรพสามิตอำเภอ และยังมี ผอ.ส่วนปราบปราม มีหัวหน้าสายตรวจ และอื่นๆ อีกมากกมาย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้น จับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างเพียงพอ
จึงมีความสงสัยที่อยากถามกรมสรรพสามิต ว่า หน่วยงานในภูมิภาคที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอในการป้องกันปราบปรามหรืออย่างไร จึงต้องมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นการสูญเสียงบประมาณที่ไม่จำเป็น
และที่สำคัญ ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายจากกรณีที่เป็นข่าว "ตบทรัพย์" และ "เรียกรับสินบน" จากพ่อค้าและนายทุนผู้ทำการค้าเหล้า-บุหรี่หลบหนีภาษี ที่มีอยู่จำนวนมากของภาคใต้
หรือกรมสรรพสามิตไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่มีอยู่ในพื้นที่
หรือกรมสรรพสามิตมีนโยบายที่จะให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางแสวงหารายได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเป็นรายได้ของกรมฯ และเป็นรายได้ส่วนตัวจากการตบทรัพย์และการเก็บส่วยรายเดือน
ที่สำคัญ การตรวจค้นจับกุมแบบเลือกปฏิบัติ เช่น ตรวจค้นจับกุมรัานค้าของ “นาย ก.” แต่ละเว้นไม่ตรวจค้นจับกุมร้านค้าของ “นาย ข.” ทั้งที่ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าทำไม่จึงมีการเลือกปฏิบัติ หรือร้านที่ไม่ถูกจับกุมมีการเคลียร์เส้นทางด้วยการจ่ายส่วยเป็นรายเดือนให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางแล้ว ส่วนร้านที่ถูกจับกุมเพราะยังไม่ได้ส่งส่วยอย่างนั้นหรือไม่ นี่เป็นคำถาม ไม่ใช่การกล่าวหาแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ "กรมศุลกากร" ที่ในภูมิภาคมีหน่วยงานของกรมศุลกากรเต็มไปหมด เช่น ศุลกากรภูมิภาคที่ 4 และที่ 5 ในภาคใต้ มีหน่วย "ทักษิณ 10" ที่ตั้งอยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีด่านศุลกากรในพื้นที่อำเภอ จังหวัดที่มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีศุลกากรในจังหวัดที่ติดกับฝั่งทะเล
แต่กรมศุลกากรกลับส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ทำหน้าที่อยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญ เป้าหมายที่ศุลกากรจากส่วนกลางเข้าตรวจค้นจับกุม ก็เป็นเป้าหมายเดียวกันกับศุลกากรในพื้นที่เข้าตรวจค้นจับกุม
เป็นการสูญเสียบุคลากรแลรายจ่ายโดยใช่เหตุ ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับ "กรมสรรพสามิต" ที่ชวนให้สงสัยว่า กรมศุลกากรไม่เชื่อเจ้าหน้าที่ในภูมิภาค จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาตรวจสอบหรือไม่ หรือเป็นช่องทางในการตั้งหน่วยงานจากส่วนกลาง เพื่อหาผลประโยชน์จากการตบทรัพย์และการเก็บส่วยรายเดือน ที่นายทุนและร้านค้าที่มีการขายเหล้าและบุหรี่หลบหนีภาษี “โวยวาย” กันให้ขรม ว่า เป็นการเก็บส่วยที่ซ้ำซ้อน ทั้งที่มาจากกรมเดียวกัน
และที่เหมือนกันของเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ทั้งจากกรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตคือการเลือกปฏิบัติ จับนาย ก แต่ไม่จับนาย ข ทั้งที่ทำการค้าสินค้าผิดกฎหมายเหมือนกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ประเด็นนี้กรมศุลกากรต้องชี้แจงเหมือกันว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ส่วนของ "ดีเอสไอ" ที่มีการตั้งสำนักงานใน จ.ปัตตานี และใช้ชื่อว่า "ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้" ก็ขอถามอธิบดีดีเอสไอ ว่า การจับบุหรี่เถื่อนในร้านค้าบุหรี่เป็นคดีพิเศษตรงไหน เพราะเรื่องเหล้า-บุหรี่ มีหน่วยงานที่จำเพาะอย่างสรรพสามิต และศุลกากรทำหน้าที่หลักอยู่แล้ว
คดีพิเศษที่ดีเอสไอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรทำ คือ คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น คดีการก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน เรื่องการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ดีเอสไอต้องแสดงฝีมือ ไม่ใช่ยกพลไปจับร้านขายบุหรี่
เรื่องการยิงถล่มที่ทำการตำรวจน้ำที่ ต.ตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นเรื่องคดีพิเศษที่ “ดีเอสไอ” ต้องดำเนินการติดตามสืบสวนและจับกุมคนร้ายมาลงโทษ เพราะคดีนี้บีอาร์เอ็นปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังคือกลุ่มนายทุนค้าบุหรี่หนีภาษี ที่ดีเอสไอมีส่วนในการจับกุมหรือไม่ คดีอย่างนี้คือคดีพิเศษ ที่ดีเอสไอต้องช่วยตำรวจในพื้นที่
หรือไม่ก็เรื่อง "ยาเสพติด" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกลุ่มทุนที่เป็นนักการเมืองและคนมีสีจำนวนมากอยู่ในกลุ่มก๊วนการค้ายาเสพติด โดยการร่วมมือกับต่างชาติ รวมทั้งเรื่องขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดีอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของอิทธิพล เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่มีแต่ข่าว “ดีเอสไอ” จับบุหรี่หนีภาษี ที่เป็นข่าวทั่วไปให้เห็นอยู่ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพราะมันไม่สมศักดิ์ศรีของหน่วยงานที่ชื่อว่าดีเอสไอ หรือ “ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้แค่เรื่องบุหรี่หลบหนีภาษีให้จับกุมเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญการจับกุมบุหรี่หนีภาษีเหมือนการจับหมูในอวย คดีอย่างนี้ถ้าจะพิเศษก็เป็นตรงนี้เอง
เหมือนกับการที่ดีเอสไอจับกุมบุหรี่เถื่อนในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันก่อน คนในพื้นที่เขาสงสัยว่าเป็นเรื่องคนมาใหม่ต้องการ "โชว์เพา" หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เพราะคนในยะลา เขารู้กันทั้งเมืองว่ามีการขายบุหรี่หนีภาษีในพื้นที่มากมายมาโดยตลอด แต่ไม่เคยมีการจับกุม รวมทั้งคนในวงในก็รู้ว่า “ใคร” ที่ดูแลเรื่องผลประโยชน์ของการค้าบุหรี่หนีภาษีใน จ.ยะลา ดังนั้นการที่ดีเอสไอจับกุมบุหรี่หนีภาษีครั้งนี้จึงมีกลิ่นทะแม่งๆ ว่า เป็นเรื่องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติจริงหรือไม่
อ่านแล้วก็พิจารณากันเอาเองว่า การกระทำของกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และดีเอสไอมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนหรือไม่ เป็นการตั้งหน่วยจากส่วนกลางเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้หมู่คณะหรือไม่ เพราะภาคใต้วันนี้คือ "ขุมทรัพย์" ที่ทุกหน่วยงานต่างแย่งชิง
โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมที่เป็นเดือนสุดท้ายของปี ติดตามปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 หน่วยให้ดี จะมีการ "แย่งกันตีเมืองขึ้น" หลังการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งและแย่งกันจับกุมกลุ่มผู้ทำผิดที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน เพราะต้องหา "ของขวัญปีใหม่ของนาย" ไหนจะ "ของขวัญปีใหม่ของเมีย"