xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลารัฐไทยต้องตั้งคำถามกับบรรดา “พี่เลี้ยง” ทำไมยังเห็นดีเห็นงามให้ “บีอาร์เอ็น” ตีสองหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก

ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ร.อ.ชินดนัย แร่ทอง นายทหารยุทธการและการฝึก ร.153 พัน 3 ที่พลีชีพจากการซุ่มโจมตีด้วยระเบิดของกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น เหตุเกิดบนบนถนนในพื้นที่ ต.จะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

การพลีชีพของทหารสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีมาต่อเนื่องล้วนเป็นชั้น “ประทวน” ร.อ.ชินดนัย จึงนับเป็นนายทหารชั้น “สัญญาบัตร” รายแรกในรอบหลายปีที่เสียชีวิต จึงถือเป็นการสูญเสียที่ไม่ธรรมดา แต่สำหรับบีอาร์เอ็นกลายความสำเร็จยิ่งใหญ่อีกครั้ง

ในวันที่ ร.อ.ชินดนัย เสียชีวิต ปรากฏว่า กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นนอกจากจะมีปฏิบัติการก่อเหตุร้ายที่ อ.จะแนะแล้ว ในอำเภออื่นๆ ของ จ.นราธิวาส ก็ยังเกิดอีก 4 เหตุการณ์ผสมโรงด้วย มีการโจมตี อส.ประจำอำเภอ ชาวบ้านไทยพุทธอาชีพหาของป่า และวางระเบิดเสาไฟฟ้า โดยมีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มอีกจำนวนหนึ่งในวันนั้น

อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากก่อนหน้าไม่กี่วัน สมาชิกบีอาร์เอ็นที่มีหมายจับคดีลอบวางระเบิดปั๊มน้ำมันที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อช่วง 2 เดือนก่อน ได้ถูกทหาร และตำรวจปิดล้อมแล้ววิสามัญฯ ขณะหลบซ่อนอยู่ที่บ้านรองนายก อบต.คนหนึ่งในพื้นที่ ม.7 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก

ต่อมา เจ้าหน้าที่ยังได้ปิดล้อมและจับกุม รอมลี กูโน นักศึกษา ม.รามคำแหง อดีตกรรมการกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ (PNYS) ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีส่วนวางแผนป่วนกรุงเทพฯ ในช่วงการประชุมเอเปก (APEC) ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้

นอกจากนี้แล้ว ในขณะกำลังเขียนบทความนี้อยู่ ปรากฏว่ายังมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทั้งที่เป็นระเบิดหวังผลต่อชีวิต และระเบิดวางเพลิงปั๊มน้ำมันที่ อ.เมือง จ.ปัตตานีเพิ่มอีก 2 แห่ง จึงเชื่อได้ว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเวลานี้มีความเชื่อมโยงกัน

นอกจากเป็นการแก้แค้นและเอาคืนของแนวร่วมแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นความต้องการแสดงให้เห็น “ศักยภาพ” และ “ตัวตน” ของฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย โดยเฉพาะสอดรับกับห้วงเวลาที่มีการประชุมเอเปกที่มี “ผู้นำชาติมหาอำนาจ” เข้าร่วมจำนวนมาก

หากถามว่าบีอาร์เอ็นมีขีดความสามารถก่อวินาศกรรมนอกพื้นที่ชายแดนใต้ได้หรือไม่ คงต้องตอบด้วยความเป็นจริงว่า ปฏิบัติการก่อกวนเพื่อสร้างสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน แต่ไม่น่าจะรุนแรงมาก เพราะแนวร่วมนอกชายแดนใต้ยังเป็นไปแบบกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ทว่าในกรุงเทพฯ ยังนับว่ามีการซ่องสุมไว้มากสุด

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในชายแดนใต้เวลานี้บีอาร์เอ็นมีการลดจำนวนกองกำลังติดอาวุธลงไปแล้ว โดยให้มีเท่าที่จำเป็นสำหรับก่อสถานการณ์ตามวงรอบ หรือแค่ต้องการรักษาสถิติการเกิดเหตุรุนแรงเอาไว้เท่านั้น แล้วหันไปทุ่มเทการเพิ่มความเข้มแข็งด้านการ “บ่มเพาะ” และ “จัดตั้งมวลชน” อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ดุลเลาะ แวมะนอ คือผู้ที่ถูกวางตัวให้รับผิดชอบงานทั้งบ่มเพาะเยาวชนชายและหญิง รวมถึงการจัดตั้งผู้นำศาสนาและชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดว่าในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเขาทำงานที่รับผิดชอบได้อย่างแข็งขัน จนมีสมาชิกของขบวนการเพิ่มมากขึ้นในทุกสายงาน

สิ่งนี้สังเกตได้จากช่วงหลังๆ มีการชุมนุมในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในชายแดนใต้มากมาย หลายต่อหลายครั้งเป็นการชุมนุมของเยาวชนชายหญิง และที่สำคัญข้อเรียกร้องมักเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร่ำบ่นว่า ไม่ต้องการใช้ความรุนแรงดับไฟใต้ ข้ออ้างนี้จึงเป็นได้แค่เพียง “วาทกรรม” เท่านั้น เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากฝ่ายทหารหรือตำรวจ แต่มาจากกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นเริ่มก่อนในทุกระลอกคลื่นของความรุนแรง

ที่สำคัญมากด้วยก็คือ ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ละลายความขลังใน “นโยบาย” ของ พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น ณ วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงไม่ใช่ผู้ “บังคับวิถี” ว่าจะให้หยุดหรือเพิ่มความรุนแรง เพราะหน้าที่นี้ได้ตกไปอยู่ในมือของขบวนการบีอาร์เอ็นไปแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมที่ผ่านมาได้ไม่นาน

ประเด็นสำคัญคือ บีอาร์เอ็นได้นำเอาความรุนแรงไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง “บนโต๊ะพูดคุยสันติสุข” มาแล้วด้วย เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยทำตามความต้องการของฝ่ายตนเอง ซึ่งก็มีทั้งมาเลเซีย และองค์กรต่างประเทศเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นด้วยที่มีการแต่งตั้ง พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่ “เลขานุการ” คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายรัฐไทย เพื่อหนุนช่วย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ที่นั่งเป็นหัวหน้าคณะและมี พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วย

เนื่องเพราะ พล.ต.ปราโมทย์ เป็นนายทหารที่มีความรู้และความเข้าใจในบทบาทของ “องค์กรต่างชาติ” ที่ได้เข้าไปแฝงฝังเป็นหุ้นส่วนในมาตรการดับไฟใต้ของรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพะกับองค์กรเจนีวาคอลล์ และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)

ดังนั้น นอกจากต้องรู้เท่าทันบีอาร์เอ็นแล้ว ยังจำเป็นต้องรู้ทันเหลี่ยมมาเลเซีย รู้ทันเล่ห์เจนีวาคอลล์กับไอซีอาร์ซีด้วย โดยตั้งคำถามไปถึงบรรดาพี่เลี้ยงเหล่านั้นแบบให้ต้องได้คำตอบกลับมาชัดเจนว่า คิดและรู้สึกอย่างไรกับการที่บีอาร์เอ็นแสดงท่าทีใช้มือข้างหนึ่ง “ชูสันติวิธี” แต่มืออีกข้างกลับ “ส่งสัญญาณให้ก่อความรุนแรง”

หากบรรดาพี่เลี้ยงเห็นดีเห็นงามด้วยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น นั่นถือเป็นเรื่องสมควรยิ่งที่จะต้องโยนคำถามต่อเนื่องไปว่า แล้วมันต่างกันตรงไหนกับที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกล่าวหารัฐบาลไทยมาก้อนหน้านี้ว่า มือข้างหนึ่ง “ถือน้ำผึ้ง” กับมืออีกข้าง “แอบยาพิษ” ไว้

นอกจากนี้แล้ว นับตั้งแต่บีอาร์เอ็นมุ่งเน้นก่อวินาศกรรมทำลาย “ฐานเศรษฐกิจ” คนในพื้นที่ ทำให้เวลานี้มีผู้บริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่า บาดเจ็บและตกงานกันมากมาย ซึ่งก็ไม่เว้นพี่น้องมุสลิมที่เดือดร้อนกันถ้วนหน้าด้วย ประเด็นนี้บรรดาพี่เลี้ยงบีอาร์เอ็นก็ควรต้องมีคำตอบที่แจ่มชัดให้แก่รัฐบาลไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น