xs
xsm
sm
md
lg

มอง "พรรคการเมืองเฉพาะกิจ" จะเห็นเค้าลางของ “พรรคสามัคคีธรรม” ปรากฏอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม

การอุบัติขึ้นของ พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นการรับรู้กันทั้งประเทศว่า พรรคการเมืองนี้ตั้งขึ้นมา "เฉพาะกิจ" โดยมีภารกิจในการเป็น "บันได" ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 เป็นบันไดให้เพื่อที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกจากการยึดอำนาจมาจากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

การปรากฏขึ้นของพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นการตั้งพรรคการเมืองเฉพาะกิจ เช่นเดียวกันกับในอดีตที่มีการตั้ง พรรคสามัคคีธรรม ขึ้นมาเมื่อปี 2535 เป็นตั้งขึ้นเพื่อเป็นบันไดให้แก่ผู้มีอำนาจในขณะนั้น ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และในที่สุด พรรคสามัคคีธรรมก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็น “สถาบันทางการเมือง” เพราะเป็นพรรคที่ก่อตั้งเพื่อภารกิจเฉพาะ ที่คนในพรรคไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของหมู่คณะต่างหาก

ไม่แตกต่างจาก "พรรคพลังประชารัฐ" ในขณะนี้ที่เป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ เพื่อเป็น "นั่งร้าน" ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการดูดนักการเมืองที่เป็นอดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ มาไว้ด้วยกัน เพื่อหวังให้ได้ ส.ส.ในพรรคให้มากที่สุด จึงกลายเป็นพรรคการเมืองที่ ส.ส.มาจากร้อยพ่อพันแม่ มีการแก่งแย่งและแย่งชิงตำแหน่งกันวุ่นวายอย่างที่เห็นใน 4 ปีของรัฐบาล และกำลังแตกกระสานซ่านเซ็นเพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้

ไม่แตกต่างจากการอุบัติขึ้นของ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" พรรคการเมืองนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกับพรรคสามัคคีธรรมในอดีต และพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน เพราะเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ใช้วิชามารเดิมๆ คือใช้พลังดูด และพลังเงินในการดูดเอา ส.ส. และอดีต ส.ส. หรือบุคคลต่างๆ จากพรรคการเมืองอื่นไปอยู่ในพรรคของตนเอง เพราะเห็นว่าคนเหล่านั้นยังมีจุดขายทางการเมือง มีฐานเสียง และยังมีประชาชนศรัทธา เพื่อเลือกให้เป็นผู้แทนปวงชนอยู่

นับเป็นการ ตกปลาในบ่อเพื่อน ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก เพราะอย่างน้อย ส.ส.เก่า หรืออดีต ส.ส. เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในทางการเมือง มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ มีกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนเป็นทุนเดิม ซึ่งย่อมจะได้เปรียบผู้สมัครหน้าใหม่อย่างแน่นอน

ดังนั้น ผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองอย่าง "บัญญัติ บรรทัดฐาน" อย่าง "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" และอย่าง "นิพนธ์ บุญญามณี" จึงมองพลังดูดที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่หวั่นไหว เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นแบบเฉพาะกิจจะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีความมั่นคง และจะเป็นพรรคการเมืองที่โกลาหลวุ่นวาย และจะล้มหายตายจากอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นพรรคสามัคคีธรรม และอีกหลายพรรคการเมืองในอดีตที่ผ่านมา

เพียงแต่ครั้งนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นเป้าหมายของการดูด ส.ส. และอดีต ส.ส. มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นเพราะพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นการพรรคการเมืองที่แตกหน่อไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคอื่นๆ รวมทั้งเป้าหมายของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญ ส.ส.และอดีต ส.ส.ที่ถูกดูด หรือที่ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปยังพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของ กปปส. เป็นสาวกนกหวีดของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้นำของ กปปส.และอดีตเลขาธิการของพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ ผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในถนนการเมืองกว่า 70 ปี ผ่านจุดต่ำสุดในการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ผ่านความแตกแยกมากมายหลายหน ตั้งแต่ก่อนที่จะมี "กลุ่ม 10 มกรา" เกิดขึ้น จนถึงกลุ่ม 10 มกราแยกตัวออกไป และหลังกลุ่ม 10 มกรา พรรคประชาธิปัตย์ประสบกับมรสุมของความแตกแยกทางความคิด จนมีสมาชิกพรรคลาออกไปอาศัยในพรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึงตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่สุดท้าย นักการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปไม่รอด หรือไม่รุ่ง อย่างที่ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานสภาผู้แทนฯ ได้กล่าวไว้

ส่วน “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเดินตามเส้นทางของพรรคสามัคคีธรรมในอดีต และพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันที่ ส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายไปอยู่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า น่าจะมองบทเรียนของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" หรือ "ลุงกำนัน" ในการการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ และใช้พลังดูดตกปลาในบ่อเพื่อน ดูดอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปจำนวนหนึ่ง โดยเน้นในพื้นที่ภาคใต้เช่นกันกับที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติต้องไปถามสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า ทำไมจึงล้มเหลวในสนามเลือกตั้งที่ภาคใต้ เมื่อปี 2562 เพราะได้ ส.ส.เขตในภาคใต้เพียงคนเดียว อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงสมัครในพรรคการเมืองของลุงกำนัน สอบตกหมด เพราะประชาชนไม่เลือก

วันนี้ การเมืองไทยกำลังย้อนยุคกลับไปสู่อดีตของความเลวร้ายอีกครั้ง จะเห็นได้ชัดว่า 8 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากจะไม่มีการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครองแล้ว ยังนำพาให้การเมืองถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ และในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะกิจได้เข้าไปเป็นผู้บริหารประเทศอีกครั้ง สภาผู้แทนราษฎรจะยั้วเยี้ยไปด้วยฝูงงูเห่า ที่จะต้อง "แจกกล้วย" กันอย่างมโหฬาร ถามว่าคนไทยและคนใต้ต้องการเห็นการเมืองแบบนี้หรือ และถ้าไม่อยากเห็นการเมืองไทยเป็นแบบนี้ ต้องกลับไปคิดว่าท่านจะเลือกผู้สมัครของพรรคไหนเป็นผู้แทนของท่าน


กำลังโหลดความคิดเห็น