xs
xsm
sm
md
lg

“แม่ทัพภาคที่ 4” กับวาทกรรมไม่ใช้ความรุนแรงและปรากฏการณ์ดรามาที่ชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่อง “ดรามา” เกี่ยวเนื่องกันมากมาย ที่น่าสนใจสุดคือประเด็น “พหุวัฒนธรรม” ที่ต้องการให้คนที่มีความแตกต่างทั้งทางศาสนาและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ทว่าประเด็นนี้กลับมี “จุดอ่อน” ให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนำไปใช้สร้าง “เงื่อนไข” ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ เพื่อดึงมวลชนมาตลอด ซึ่งเวลานี้ ขบวนการบีอาร์เอ็นที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันก็ไม่เว้นเช่นกัน

ใช่แล้ว! ผู้เขียนกำลังพูดถึงควันหลงจากเทศกาลลอยกระทงที่ “บาบอแม” หรือนายดอรอแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี มีหนังสือแจ้งให้มุสลิมทราบว่า การเข้าร่วม “งานลอยกระทง” ในทุกกรณีถือว่าขัดกับหลักศาสนา และขอให้ทุกคนตระหนักว่าอะไรที่ควรทำ และอะไรที่ไม่ควรทำ

แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่และเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างมีการห้ามมุสลิมไปปฏิบัติหน้าที่ใน “งานกาชาดจังหวัดยะลา” ส่งผลให้เกิดดรามาจากคนในพื้นที่บางส่วนที่เห็นต่างว่าน่าจะไม่สอดรับกับหลักการของสังคมพหุวัฒนธรรมที่ร่วมกันเดินหน้าผลักดันกันมา

โดยข้อเท็จจริงเรื่อง “ศาสนา” ก็ว่ากันไปตามหลักการ ส่วนเรื่อง “สังคม” น่าจะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่คนในพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิมต่างแยกกันออกว่า “อะไรเป็นอะไร” ที่ชัดเจนคือ ในงานลอยกระทงที่จัดขึ้นโดยจังหวัด หรือ อปท.ล้วนมีพี่น้องมุสลิมเข้าร่วม

ที่สำคัญพ่อค้าแม่ขายในงานส่วนใหญ่ที่เห็นๆ ก็เป็นมุสลิมเสียส่วนมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะมุสลิมถือเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ จึงนับเป็นเรื่องปกติของสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่ไม่มีการเสแสร้งหรือประดิษฐ์สร้างมาแต่อย่างใด

ความจริงแล้วไม่จำเป็นที่ต้องมีดรามาตามมากับเรื่องราวคำสั่งห้ามที่เกิดขึ้น เพราะหลักศาสนากับหลักสังคมมีเส้นแบ่งชัดเจน แต่ก็เป็นธรรมชาติของการออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านเช่นกัน ยิ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดช่องว่าง หรือสร้างผลกระทบให้เกิดความแตกแยกด้วยแล้ว

อีกประเด็นดรามาคือ กรณี พ.ต.อ.คมกฤช ศรีสงค์ ผกก.สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีคำสั่งห้ามมิให้ตำรวจในสังกัด “พกพาอาวุธปืน” ขณะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนตำรวจที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ เช่น งานสายสืบ-สายตรวจ งานป้องกันปรามปราม เมื่อพ้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วให้นำปืนไปคืนให้ฝ่ายเก็บรักษา

ปรากฏว่าคำสั่งนี้ถูกนำไปดรามาสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งที่ความจริงแล้วควรต้องถือเป็นคำสั่งที่ก่อประโยชน์กับสังคม เป็นการป้องปรามมิให้ตำรวจนำปืนไปใช้ในทางมิชอบ แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับชายแดนใต้ โดยเฉพาะกับพื้นที่ อ.หนองจิก ที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง

เวลานี้ไม่เฉพาะแต่ตำรวจเท่านั้น ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และกองกำลังท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อส. ชรบ. ชคต. และ อส.ทพ. ต่างก็ตกเป็นเป้าหมายของกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเรื่องนี้ พ.ต.อ.คมกฤช ย่อมต้องรู้ดี เพราะเป็นทั้งคนใต้และได้วนเวียนปฏิบัติหน้าที่ในชายแดนใต้มาตั้งแต่สมัยติดยศนายร้อยใหม่ๆ

การตีกรอบไม่ให้ตำรวจพกปืนพร่ำเพรื่อมีคนไปดรามาถึงขั้นเป็นการทำลาย “ภาพลักษณ์ตำรวจ” พร้อมชี้มีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นเยอะมาก ถ้าตำรวจไม่มีปืนนอกจากช่วยประชาชนไม่ได้แล้ว ยังอาจกลายเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น เพราะขนาดมีทั้งเสื้อเกราะ พกปืนสั้นและถือปืนยาวก็ยังถูกซุ่มโจมตีมานักต่อนักแล้ว

ประเด็นสุดท้ายคือ กรณีปิดล้อมแล้ววิสามัญคนร้ายที่หลบซ่อนอยู่ในบ้านของนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ม.7 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเคยร่วมก่อวินาศกรรมปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อเมื่อ 2 เดือนก่อน คนร้ายยิงตอบโต้ มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 2 และผู้ใหญ่บ้านที่มาช่วยเกลี้ยกล่อมยังถูกคมกระสุนเสียชีวิตไปด้วย

เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องเขียนถึงคือ เจ้าของบ้านที่ให้คนร้ายหลบซ่อนและไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังหาทางแก้ไม่สำเร็จ เคยบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นถึงขั้นศาลมีคำสั่งลงโทษทั้งจำและปรับผู้ให้ที่พักพิงคนร้ายมาแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้คนในพื้นที่กลัวเกรงแต่อย่างใด

ทุกวันนี้กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นเมื่อก่อเหตุแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้หลบหนีไปยังมาเลเซีย แต่ป้วนเปี้ยนหลบซ่อนอยู่ตามบ้านชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นเครือข่ายขบวนการเช่นกัน สังเกตได้จากภรรยาผู้ก่อเหตุยังคงมีการตั้งท้องและคลอดลูก

ที่สำคัญเมื่อเจ้าหน้าที่ทราบแล้วทำการปิดล้อมตรวจค้น แทบทุกครั้งจะมีการต่อสู้แล้วจบลงด้วยการถูกวิสามัญฯ แต่แล้วเจ้าของบ้านที่ให้คนร้ายพักพิงหลบซ่อนก็มักจะบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ถูกบังคับหรือไม่รู้ว่าคนพวกนั้นเป็นคนร้ายที่เคยก่อเหตุมาแล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นสูตรสำเร็จที่ฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นพร่ำสอนไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องขอถามไปยัง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าจะหาทางออกกันอย่างไรเพื่อยุติปัญหานี้ เพราะถ้าแก้ไม่ได้นั่นหมายถึงหยุดความรุนแรงและความสูญเสียไม่ได้เช่นกัน ที่สำคัญฝ่ายบีอาร์เอ็นยังใช้บ้านเรือนชาวบ้านเป็นที่หลบซ่อน ซ่องสุม และวางแผนก่อเหตุได้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

สุดท้าย นอกจากเอาผิดเจ้าของบ้านไม่ได้แล้ว ยังต้องซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายจากการปะทะ และอาจต้องเยียวยาเจ้าของบ้านด้วย ส่วนประชาชนที่อาจพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับผลกระทบ สูญเสียทรัพย์สินหรือถึงขั้นเสียชีวิตอย่างกรณีผู้ใหญ่บ้านที่มาช่วยเจรจาจนถูกลูกหลงก็ต้องรับกรรมกันต่อไป

ที่สำคัญที่สุดคือการ “จับเป็น” คนร้ายในระดับ “แกนนำ” หรือระดับ “ปฏิบัติการ” ของฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ได้เลยนั้น ส่งผลให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขาดข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการนำชายแดนใต้ไปสู่ความสงบสุข

ทั้งหมดนี้ต้องฝากไปถึง พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 จะมีนโยบายอย่างไรเพื่อหยุดความรุนแรงดังกล่าว โดยเฉพาะต้องไม่เอื้อให้ฝ่ายบีอาร์เอ็น และกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่นำไปสร้างเงื่อนไขหรือโจมตีได้

ที่สำคัญคือต้องเป็นนโยบายที่เอื้อให้ “องค์กรต่างชาติ” ใช้เป็นข้ออ้างเข้า “แทรกแซง” มาตรการดับไฟใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และสุดท้ายการประกาศไม่ใช้ความรุนแรงของ พล.ท.ศานติ ก็จะเป็นได้เพียง “วาทกรรม” ที่ไม่ต่างจากแม่ทัพภาค 4 คนก่อนๆ ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น