ตรัง - “เซ็นทรัล ทำ” ต่อยอดการลงมือทำสู่ จ.ตรัง สืบสานตำนานผ้าทอนับ 100 ปี พัฒนาสู่โมเดลท่องเที่ยวชุมชน พร้อมสนับสนุนการศึกษา และส่งเสริมอาชีพคนพิการ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน “คน-ผ้า-นา-วัด”
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี บ้านควนสวรรค์ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศูนย์เรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มเซ็นทรัล ตามโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ซึ่งมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน ด้วยแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมให้สังคม ลดความเหลื่อมล้ำ การให้โอกาสในการเข้าถึง รวมไปถึงการให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ และฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่น
โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล และคณะ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายจรูญศักดิ์ หมาดเท่ง นายอำเภอนาโยง นายวิโรจน์ เยาว์ดำ นายกฯ อบต.นาหมื่นศรี นายเจริญ ศรนารายณ์ กำนันตำบลนาหมื่นศรี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน หอการค้าไทย YEC สมาคมท่องเที่ยว เครือข่ายทางวัฒนธรรม ประชาชนชาวนาหมื่นศรี และชาวตรังเข้าร่วมอย่างคับคั่ง และมี น.ส.อารอบ เรืองสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี รวมทั้งสมาชิกให้การต้อนรับ
ไฮไลต์ภายในพิธีเปิดมีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าทอนาหมื่นศรี ทั้งผ้าทอแบบดั้งเดิม และแบบแฟชั่นทันสมัย จากนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ และนายแบบนางแบบมืออาชีพชาวตรัง กำกับการนำเสนอผลงานการออกแบบของนักศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มทร.ศรีวิชัย ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ ทองใย และนายนิติพงศ์ ไวยวรรณจิต ใช้ช่างทอผ้าจากกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ได้แก่ นางอารีย์ ปั้นทอง นางลัดดา ชูบัว และนางขนิษฐา ชูเกลี้ยง
ทั้งนี้ สำหรับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวนาหมื่นศรี จะมีความสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชาวนาหมื่นศรีดั้งเดิมส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เลี้ยงวัว ทำสวนยาง ส่วนอาชีพการทอผ้าที่ทำกันหลังจากกรีดยางเสร็จแล้ว ซึ่งถือเป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวนาหมื่นศรี การทอผ้าของนาหมื่นศรีมีมาแต่โบราณ ครั้งที่ยังไม่มีเส้นด้ายขายในตลาด แต่ละบ้านปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย ย้อมสีเอง ทุกบ้านมีหูกประจำบ้านเพื่อทอผ้าใช้ในครัวเรือน บางทีก็แลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้สีสัน และลวดลายที่แตกต่างออกไป มีบ้างที่ทอเหลือใช้ ขายในตลาด หรือแลกเปลี่ยนเป็นเส้นด้ายกลับมา สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซื้อด้ายจากตลาดนาโยง ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นด้ายขาดตลาด วิธีแก้ปัญหาคือปั่นฝ้ายย้อมสีเอง พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผ้าจากโรงงาน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขายในตลาดมากขึ้น การทอผ้าของคนนาหมื่นศรีจึงค่อยๆ ลดลงจนแทบไม่มีเหลือ
อย่างไรก็ตาม การทอผ้าเพื่อใช้ในบ้าน ประเภทผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่มยกดอก เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ และผ้าพานช้างยังมีอยู่ เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดภาคใต้ เสด็จฯ จังหวัดตรัง ในระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2502 ขณะเสด็จฯ จากจังหวัดตรังไปจังหวัดพัทลุง ในวันที่ 17 มีนาคม 2502 ได้ทรงแวะเยี่ยมราษฎร ต.นาโยง มีชาวบ้านนาหมื่นศรี นำผ้าห่มลายลูกแก้วไปทูลเกล้าฯ ถวายผ้าลายโบราณในยุคแรกที่ทอได้ มีลายขาวม้า ลายราชวัตร ลายตาหมากรุก ผ้าถุงทอลายหางกระรอก ตาสมุก หัวพลู ผ้าห่อทอลายลูกแก้ว ลายดอกจัน ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ผ้าที่ทอได้เป็นครั้งแรก ชาวบ้านภายในหมู่บ้านได้ซื้อขายกันเอง และเริ่มกระจายไปยังหมู่บ้านอื่น
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดโซนแสดงวิถีชีวิตสะท้อนคำนิยามของงาน “คน-ผ้า-นา-วัด” ซึ่งเป็นรากเหง้าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของนาหมื่นศรี รวมทั้งการสาธิตทำอาหาร ขนมพื้นถิ่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนาหมื่นศรี การแสดงมโนราห์จาก ต.โคกสะบ้า รวมถึงการนำวัวชน นกกรงหัวจุกมาโชว์ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสวิถีนาหมื่นศรีที่แท้จริงอย่างใกล้ชิด โดยทั้งนายชวน หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหารเซ็นทรัล ตลอดจนประชาชนผู้ร่วมงานได้ทดลองสีข้าวด้วยครกสี ตำข้าว และร่วมชมร่วมเล่นการละเล่นพื้นบ้านอย่างสนุกสนาน โดยนายชวนได้สีข้าวด้วยครกสีข้าวอย่างคล่องแคล่ว และเชื้อเชิญให้นายพิชัย นางกอบกาญจน์ นายขจรศักดิ์ และคนอื่นๆ มาลองสีข้าวด้วยบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง เป็นภาพประทับใจแก่ผู้ร่วมงานที่ต่างมุงดูกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ภายใต้โครงการหลักการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ได้ขับเคลื่อนโครงการด้วยการลงพื้นที่กับชาวชุมชนนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมที่มีมานับ 100 ปี และพัฒนาสู่โมเดลท่องเที่ยวชุมชน โดยเปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อสืบสานวิถีชุมชนเกษตรหัตกรรมผ้าทอมือโบราณของทางภาคใต้ ขับเคลื่อนการศึกษา จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน อบรมการเป็นมัคคุเทศก์ รวมไปถึงออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ทำให้สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนกว่า 56 ล้านบาท 155 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 65) โดยได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังสืบไป
นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมโบราณ และยังสามารถต่อยอดสู่ชุมชน “เซ็นทรัล ทำ” จึงได้ริเริ่มพัฒนา “โครงการท่องเที่ยวชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี” โดยการเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการออกแบบของผ้าทอนาหมื่นศรี ให้มีความทันสมัย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และปรับปรุงโรงทอผ้าเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมลายผ้า และผ้าทอโบราณไม่ให้สูญหาย รวมถึงให้ลูกหลานของชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวผ้าทอของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีความโดดเด่นเรื่องการใช้สี และลายผ้า ซึ่งมีแนวคิดมาจากประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวจังหวัดตรัง
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2561 ได้ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีอีกครั้ง เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ประกอบด้วย โรงทอผ้า พิพิธภัณฑ์ผ้าทอ ร้านค้าวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี และการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมด้วยมัคคุเทศก์ที่จะมาคอยบอกเล่าถึงตำนานผ้าทอนับ 100 ปีของ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง และจะพัฒนาสู่การท่องเที่ยวชุมชนระดับประเทศ
โครงการท่องเที่ยวชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ประกอบไปด้วย 4 ส่วน ดังนี้
1.อาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ออกแบบภายใต้แนวคิด “อยู่กับผ้า” ด้วยรูปแบบและโครงสร้างอาคารที่เรียบง่าย เปิดโล่ง และเข้ากับบริบทโดยรอบของชุมชน เพิ่มความโดดเด่นด้วยการใช้ผ้าทอนาหมื่นศรีตกแต่งภายในอาคาร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้เรื่องราวของตำนานผ้าทอนับ 100 ปีของชาวชุมชนนาหมื่นศรี
2.พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี จัดทำภายใต้แนวคิด “สืบโยด สาวย่าน” หรือหมายถึง “การสืบสาวเรื่องราวผ้าทอ” ให้เห็นถึงคุณค่าของผ้าทอนาหมื่นศรี อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นมานับ 100 ปี ซึ่งลายดั้งเดิมคือ ลายลูกแก้ว ลายราชวัตร ลายแก้วชิงดวง และเป็นสถานที่ที่รวบรวมลายผ้ามรดกที่เกิดจากการสืบทอดของช่างทอในชุมชน และส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดตรัง เพื่อหวังสืบทอดภูมิปัญญา และอยากชวนให้คนไทยได้มาเห็นคุณค่าของผ้าทอเมืองตรัง อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้เยาวชนภายในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเป็นมัคคุเทศก์ที่จะคอยพาชมผ้าโบราณ และบอกเล่าเรื่องราวของลายผ้าต่างๆ
3.ร้านค้าวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี โดยออกแบบอาคารให้มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน โดยภายในมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าทอ กระเป๋า เสื้อ หมวก ซึ่งทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนนาหมื่นศรีเป็นคอลเลกชันใหม่ เพื่อจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Good Goods
4.จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน ภายใน ต.นาหมื่นศรี และทำป้ายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน พร้อมจัดจักรยานให้เช่าบริการแก่นักท่องเที่ยว
นอกจากการพัฒนาโมเดลการท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเซ็นทรัล ยังได้สนับสนุน และผลักดันด้านการศึกษาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงส่งเสริมอาชีพคนพิการในจังหวัดตรัง ดังนี้ โรงเรียนในจังหวัดตรัง 19 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนผ่านโครงการโรงเรียนคุณธรรม และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โดยความร่วมมือกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มเซ็นทรัลเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership Schools) กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการลงนาม MOU ร่วมกับโรงเรียน และวิทยาลัยระดับอาชีวศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งภาคใต้ได้คัดเลือกโรงเรียนบ้านควนสวรรค์ และวิทยาลัยเทคนิคตรัง ในการทำโครงการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการศึกษาจากระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่ระดับอาชีวศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีการมอบทุนการศึกษาให้สถานศึกษาทั้ง 2 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 168 ทุน ผลักดันให้โรงเรียนเข้ารับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษา ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาเส้นใยผ้าให้แก่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เช่น ผ้าทอนาโน ใยผ้าจากกล้วย เป็นต้น และโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการในจังหวัดตรัง ผ่านความร่วมมือกับสมาคมกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวและร่างกาย จังหวัดตรัง จัดตั้งโครงการเซ็นทรัลทำ ชื่อ “โครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อการจำหน่าย” รวมทั้งสิ้น 28 ครัวเรือน กระจายอยู่ใน 5 อำเภอ