xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น EIA “อ่าวกุ้ง มารีน่า” ครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอ สผ.ปลาย พ.ย.นี้ เจ้าของพร้อมลงทุน รองรับเรือได้ 75 ลำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า ครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอ สผ.ปลายเดือน พ.ย.นี้ เจ้าของพร้อมเดินหน้าลงทุนพัฒนานาบ่อกุ้งร้าง 30 ไร่ รองรับเรือได้ 75 ลำ ด้วยเงินลงทุน 800 ล้าน


เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (2 พ.ย.) บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมหมาย แซ่หลิม ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชนต่อร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เพิ่มเติม) โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ โรงแรมศุภาลัย ซีนิค เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา

สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลเสนอขอความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปยัง สผ.ในช่วงปลายเดือน พ.ย.2565 นี้


โดย น.ส.นวรัตน์ เกี้ยวมาศ ผู้จัดการโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า การศึกผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากโครงการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าคลอก และพื้นที่ ต.เทพกระษัตรี 2 ตำบล ครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอต่อ สผ.ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยโครงการนี้ได้เริ่มทำ EIA มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงขณะนี้ เป็นเวลา 6 ปีแล้ว

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า ทั้งช่วงการก่อสร้างและหลังการเปิดให้บริการ เป็นมารีน่าที่เกิดจากการขุดแอ่งจอดเรือลึก 8 เมตร ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เป็นนากุ้งร้าง เชื่อมต่อกับทะเล สามารถจอดเรือสำราญ เรือสปีดโบ๊ตได้ทั้งหมด 75 ลำ แบ่งเป็นเรือขนาด 18 เมตร 45 ท่า เรือขนาด 11 เมตร 20 ท่า และเรือขนาด 16 เมตร 9 ท่า ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 22 เดือน ซึ่งจะก่อสร้างหลัง EIA ผ่านการเห็นชอบของ สผ.


โดยได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 22 ประเด็น ทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณภาพชีวิต และการประกอบอาชีพ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกัน

โดยในช่วงการขุดแอ่งจอดเรือและรื้อคันดินที่จะเชื่อมต่อกับทะเลนั้นเป็นเวลา 4 เดือน จะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการฟุ้งกระจายของตะกอนดิน ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยการทำม่านกันตะกอน 2 ชั้น ซึ่งจะทำให้ตะกอนฟุ้งกระจายได้ไกลสุดไม่เกิน 600 เมตร รวมไปถึงการขุดจะต้องขุดในช่วงที่น้ำลดสูงสุด และขุดในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ ดินที่ได้จากการขุดจะนำไปใช้ในการถมพื้นที่ที่กำหนดเป็นจุดบริการ ส่วนที่เหลือจะขุดเป็นบ่อเก็บดินมีผ้าใบรองและห่อไว้ เพื่อป้องกันตะกอนดินไหลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและลงทะเล


ส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและปะการังนั้น จากการศึกษาพบว่าปะการังมีอยู่ 3 จุด คือ เกาะหงำ ห่างจากโครงการ 2.8 กม. เป็นปะการังฟองน้ำและปะการังโขด เกาะเฮ ห่างจากโครงการ 2.2 กม. เป็นปะการังฟองน้ำและโขด และหลังแดง ห่างจากโครงการ 1.3 กม. มีกัลปังหาอยู่ 1 หย่อม และหญ้าทะเล ซึ่งการติดตั้งม่านกันตะกอน 2 ชั้น จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทั้ง 3 จุด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะในหลายๆ ด้านที่จะเกิดประโยชน์กับชุมชน และประชาชนในแง่การประกอบอาชีพ การท่องเที่ยว การกีฬา รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ในการป้องกันไม่เกิดผลกระทบทั้งช่วงการก่อสร้างและหลังเปิดให้บริการ รวมไปถึงมีการสอบถามถึงการเชื่อมโครงการกับทางออกสู่ทะเลและการขุดลอกล่องน้ำที่จะเชื่อมออกสู่ทะเลอีกด้วย 


สำหรับโครงการอ่าวกุ้ง มารีน่า เป็นโครงการลงทุนโดยนักลงทุนท้องถิ่นภูเก็ตในพื้นที่ป่าคลอก โดยนำที่ดินที่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งร้างมาพัฒนาเป็นมารีน่า โดยขุดแอ่งจอดเรือยอชต์ในที่ดินของเอกชน เป็นท่าเทียบเรือยอชต์ รองรับเรือได้ทั้งหมด 75 ลำ เป็นเรือขนาดเล็กกินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร ขนาดเรือยาวไม่เกิน 18 เมตร ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกที่เป็นมารีน่าและคลับเฮาส์ ประมาณ 800 ล้านบาท และหลังจากการก่อสร้างมารีน่าแล้วเสร็จไปได้สักระยะหนึ่ง ทางโครงการมีแผนที่จะทำเป็นที่พักอาศัยแบบพูลวิลล่า




กำลังโหลดความคิดเห็น