โดย.. สมคิด เรืองณรงค์
ตั้งแต่เกิดโรคระบาดสัตว์เมื่อปี 2562 เรื่อยมา จนกระทั่งภาครัฐยอมรับว่ามันคือโรค ASF เมื่อเดือนมกราคม 2565 ส่งผลให้แม่พันธุ์สุกร 1.2 ล้านตัว ถูกทำลายไปจนเหลือเพียง 6 แสนตัว มีฟาร์มที่เสียหายจากโรคนี้ และหยุดเลี้ยงมากถึง 107,000 ราย หายไปกว่าครึ่งของการผลิตทั้งประเทศ ปริมาณหมูจากปกติไทยผลิตได้ 22-24 ล้านตัวต่อปี ลดลงเหลือเพียง 14-15 ล้านตัวต่อปี เมื่อผลผลิตหายขณะที่ความต้องการเท่าเดิม ระดับราคาหมูก็ขยับขึ้นตามกลไกตลาด และเมื่อหมูแพงขึ้นก็เป็นช่องว่างให้เกิด “ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน” ประกาศขายหมูแช่แข็งเหล่านี้ในราคาถูกมากทางโซเชียลมีเดียอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนสามารถขยายตัวสอดแทรกไปขายยังทั่วทุกภูมิภาคของไทยได้ในเวลาเพียงไม่นาน ... ทั้งหมดนี้กำลังบอกอะไร และคนไทยได้อะไรจาก “หมูเถื่อน” เหล่านี้
ประการแรก : ในระยะสั้นๆ ต้องตอบว่า “ได้กินหมูถูก” และ “ได้โรค” เป็นของแถม มันเป็นหมูผิดกฎหมาย ไม่ผ่านการตรวจโรค ไม่ผ่านการตรวจสารตกค้าง ไม่ผ่านกระบวนการทางศุลกากร และมาจากประเทศที่ใช้สารพิษมากมาย ทั้งสารเร่งเนื้อแดง ยาปฏิชีวนะ หรือแม้แต่เป็นชิ้นส่วนหรืออวัยวะที่ประเทศต้นทางถือเป็น “ขยะ” จึงส่งมาขายได้ในราคาแทบจะฟรี แต่แน่นอนว่าในระยะยาวคนไทยต้องแลกด้วย “ชีวิตและสุขภาพ” ซึ่งไม่คุ้มค่าเลย ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เตือนให้ระมัดระวังหมูเถื่อนปนเปื้อนเชื้อดื้อยา และสารตกค้างที่มากกว่าแค่สารเร่งเนื้อแดง โดยระบุว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยผู้บริโภค
ประการต่อมา : คนไทยได้เห็นกระบวนการทำงานที่บกพร่องของภาครัฐ เพราะมิจฉาชีพนำเข้าหมูเหล่านี้ด้วยวิธีการที่ดูไม่ยากเย็นอะไร เพียงขนสินค้าเถื่อนมาทางทะเล บรรจุแช่แข็งมาในตู้คอนเทนเนอร์ ส่งของขึ้นที่ ท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านเครื่องเอกซเรย์ของ กรมศุลกากร แบบง่ายๆ หรือแม้แต่เอกสารที่มีการสำแดงเท็จก็ตรวจไม่พบ ไม่เคยมีการจับหมูเถื่อนได้ที่ท่าเรือ เสมือนหนึ่งมันเข้ามาแล้ว “หายตัว” ไปโผล่อยู่ในรถบรรทุก วิ่งบนถนนหลวงที่มุ่งหน้าไปห้องเย็นได้อย่างสบายๆ นี่คือความหละหลวมของการทำงาน เป็นความไม่โปร่งใส และชวนให้คิดไปว่ากำลังเกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นใช่หรือไม่ เพราะแม้ว่าเสียงเรียกร้องของเกษตรกรที่ชี้เป้าจับกุมจะดังก้องสักเพียงใด ก็เข้าไม่ถึงโสตประสาทของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้เลย และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบหรือโยกย้ายข้าราชการกรมนี้เซ่นการทำงานที่บกพร่องเลยแม้แต่คนเดียว แต่จะว่าไปก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อฝั่งกรมปศุสัตว์ดำเนินการโยกย้ายข้าราชการจากความบกพร่องนี้ไปบ้างแล้ว
ประการที่สาม : คนไทยถูกเบียดเบียนตลาด เรื่องแบบนี้สมควรที่คนไทยกลุ่มผู้เลี้ยงหมูควรได้รับหรือ? คนกลุ่มนี้บอบช้ำจากโรคระบาดสัตว์ที่เล่นเอาแทบหมดตัว เขามีหน้าที่ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อคนไทย เมื่อโรค ASF มาเขาต้องทุ่มทุนวางระบบป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เผชิญต้นทุนทุกรูปแบบ ทั้งพลังงาน วัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าพันธุ์ที่ทุกอย่างล้วนพุ่งสูงขึ้น จะมีปัญญาอะไรมาขายในราคาต่ำสู้กับขยะจากต่างประเทศ ไหนจะความเสี่ยงจากโรค ASF ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศต้นทางหมูเถื่อนเหล่านั้นที่อาจกลับมาแพร่ระบาดในไทยได้อีก ซ้ำเติมการลงทุนเลี้ยงหมูครั้งใหม่ที่ไม่แน่ว่าจะสามารถขายได้ในราคาเหมาะสม ตราบใดที่ยังมีหมูเถื่อนอยู่เกลื่อนเมือง สิ่งเหล่านี้บั่นทอนความมั่นใจในการลงหมูเข้าเลี้ยงใหม่ และจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปริมาณหมูที่เกษตรกรต้องช่วยกันเพิ่มผลผลิตหมูให้เข้าสู่ภาวะสมดุลตามกำหนดที่คาดการณ์
เหมือนดังที่ นายปรีชา กิจถาวร เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูภาคใต้ ระบุว่า ตัวแปรสำคัญในการเลี้ยงหมูตอนนี้ คือ ความกังวลเรื่องหมูเถื่อน เพราะเข้ามาดัมป์ราคาทำให้ราคาในพื้นที่อ่อนตัวลง ผู้เลี้ยงอยู่ยากโดยเฉพาะรายย่อยรายเล็ก ยิ่งหากเป็นหมูป่วยด้วยจะกระทบหนัก นอกจากนี้ ถ้าคนเลี้ยงหมูไม่ฟื้น ตัวกินไม่มี เกษตรกรเกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ย่อมเดือดร้อนต่อไปเป็นลำดับ มิพักต้องพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร และระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศ
เมื่อพึ่งพาข้าราชการได้ไม่เต็มที่ ทางหนึ่งที่สังคมจะช่วยกันเองได้ คือ การไม่ส่งเสริมให้หมูเถื่อนเติบโต ไม่สนับสนุนให้ กลุ่มมิจฉาชีพมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ บนความทุกข์ยากของสุจริตชน และ จำเป็นต้องหยุดมัน!! โดยช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา ตลอดจนชี้เป้าจับกุม หรืออย่างน้อยในฐานะคนซื้อหมูไปปรุงขาย ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้า ไม่หลงกลสั่งซื้อหมูเถื่อนมาใช้ หรือในฐานะหัวหน้าครอบครัว ควรเลือกซื้อหมูที่เชื่อถือได้ เพื่อความปลอดภัยของคนที่รัก ความร่วมมือของทุกคนในการตัดตอน “หมูเถื่อน” จะเป็นอีกหนทางที่สามารถช่วยคนไทยด้วยกันให้พ้นภัย