ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม
ติดตามข่าวสารการพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลชุดนี้ได้ยกเลิกโครงการอภิมหาโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกที่ อ.ละงู จ.สตูล และทางรถไฟ เพื่อการเชื่อมต่อขนส่งสินค้า จากท่าเรือน้ำลึกที่ จ.สตูล มายัง จ.สงขลา ซึ่งถือว่าเป็นการดับฝันการพัฒนาภาคใต้ตอนล่างไปแล้วอย่างสิ้นเชิง โดยหมดงบประมาณในการศึกษาโน่น นี่ นั่นไปแล้วจำนวนหนึ่ง
และพบว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มี "บิ๊กตู่" เป็นผู้นำประเทศ มีกระทรวงคมนาคมที่เป็นโควตารัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอแผนพัฒนาภาคใต้ โดยทำเป็น "แลนด์บริดจ์" เพื่อเชื่อมสองฝั่งทะเล จากฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ จ.ชุมพร ไปยังฝั่งทะเลอันดามันที่ จ.ระนอง ซึ่งถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์ที่รัฐบาลต้องทำเอง โดยใช้เงินงบประมาณ 400,000 ล้านบาท
และทั้งหมดเป็นเพียงแผนงานในกระดาษที่เห็นเพียงรูปร่าง แต่ยังไม่น่าเชื่อว่าจะ "ได้ทำ" หรือ "ทำได้" จริง เพราะยังมีปัญหาของการศึกษา และมีอุปสรรคอีกมาก โดยเฉพาะในฝั่งทะเลอันดามันที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศพม่า อย่างน้อยที่เป็นเกาะก็ 3 เกาะด้วยกัน และที่สำคัญ งบประมาณจำนวนมหาศาล รัฐบาลจะเอามาจากไหนในสภาพที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจทรุดโทรม หรือ “ถังแตก” อย่างที่เป็นอยู่
ที่ยกเอาเรื่องของแลนด์บริดจ์และเรื่องรัฐบาลถังแตก ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ของกระทรวงคมนาคม เพียงแต่ต้องการเปรียบเทียบกับ "โครงการเมืองต้นแบบ" ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโครงการอภิมหาโปรเจกต์เช่นกัน และเป็นโครงการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม.ให้ความเห็นชอบผ่านทาง กพต.หรือคณะกรรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ หรือที่เรียกกันว่า "เมืองอุตสาหกรรมจะนะ" เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ที่เป็นนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ไม่มีเรื่องของปิโตรเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญเป็นโครงการที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุน เพราะภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุน เป็นผู้ดำเนินการเองในวงเงิน 600,000 ล้านบาท และเดินหน้าโครงการได้ทันทีที่หน่วยงานของรัฐผ่านการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องของผังเมืองตามที่กฎหมายกำหนดไว้
แต่แปลกที่โครงการนี้กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงจากกระทรวงต่างๆ รวมทั้งนักการเมืองในพื้นที่ และในการดำเนินการเพื่อการขับเคลื่อน ที่เปลี่ยนมือจาก "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" (ศอ.บต.) มาเป็น “สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) ก็มีความล่าช้าในการขับเคลื่อนยิ่งกว่าการเดินทางของ "หอยทาก" จนแทบจะไม่มีเห็นความคืบหน้าเพื่อแสดงความก้าวหน้าของโครงการเมืองต้นแบบแห่งนี้แต่อย่างใด
แม้แต่เรื่องของการศึกษาสิ่งแวดล้อม วงเงิน 80 ล้านบาท มีการใช้เวลาถึง 3 ปี ที่แสดงให้ว่าต้องการเตะถ่วง ไม่ให้เดินหน้าโครงการ ทั้งที่วันนี้องค์กรเอกชนใน จ.สงขลา โดยการนำของหอการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจและสังคม ประกาศชัดว่าพร้อมสนับสนุนเมืองต้นแบบแห่งนี้ถ้าทำตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ
ดังนั้น การดึงการศึกษาสิ่งแวดล้อมถึง 3 ปี หมายความว่าอย่างไร เรื่องนี้ “สภาพัฒน์” ต้องมีคำตอบให้คนสงขลาและคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะวันนี้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าสภาพัฒน์ไม่เห็นด้วยกับโครงการเมืองต้นแบบของเอกชน จึงทำให้การดำเนินการล่าช้า ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนและนักธุรกิจในพื้นที่
เรื่องทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาล และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ต้องพิจารณาในเรื่องของการขับเคลื่อน “เมืองต้นแบบ” ที่ อ.จะนะ เสียใหม่ กับสภาพัฒน์ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อน เพราะวันนี้ สถานการณ์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ไม่ตอบโจทย์ ทั้งกับประชาชนและเอกชน ทั้งในเรื่องการลงทุนและปัญหาการว่างงาน การสร้างอาชีพ ที่ยิ่งปล่อยให้การพัฒนาเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของคนรากหญ้าให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความจริงใจในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องพูดคุยกับสภาพัฒน์ให้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ อ.จะนะ ให้รวดเร็วและก้าวหน้ามากกว่านี้
ในขณะเดียวกัน ถ้ากลัว “เอ็นจีโอ” จนไม่กล้าที่จะเดินหน้าต่อไปก็บอกประชาชนให้ชัดเจนว่า “เมืองต้นแบบ” ที่ อ.จะนะ รัฐบาลได้ยกเลิกแล้ว เพื่อที่ประชาชนและนักธุรกิจ นักลงทุนจะได้ไม่ต้องคาดหวังกับรัฐบาลอีกต่อไป