คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ประเทศเพื่อนบ้านเรา นายกฯ มาเลเซียประกาศ “ยุบสภา” เรียบร้อยแล้ว หลังรับรู้ว่าเสถียรภาพรัฐบาลมีปัญหาจากพายุเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด เมื่อรัฐบาลไปต่อไม่ได้ก็คืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน
แม้มาเลเซียจะมีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ก็ไม่มากเท่าจำนวนพรรคการเมืองของไทยเรา และที่แข่งขันกันจริงๆ น่าจะมีประมาณ 3-4 พรรคหลักๆ เท่านั้น
ที่นำเรื่องราวในมาเลเซียมาเล่าให้ฟัง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวจาก “คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย” ระบุว่า จะมีการเปิดโต๊ะเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็นอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2565 นี้ และที่ผ่านมา คณะกรรมการเทคนิคของทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อกำหนดวาระไปแล้ว
แต่เมื่อมาเลเซียมีการยุบสภา จึงเชื่อว่าการตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุขจะต้องเลื่อนแน่นอน แถมน่าจะถูกเลื่อนยาวๆ ออกไปจนกว่ามาเลเซียจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็เป็นได้
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมให้ว่า มาเลเซียในฐานะ “ผู้กำกับเวที” หรือคอยอำนวยความสะดวกการเจรจา แต่โดยข้อเท็จจริงกลับมุ่งเน้นกำกับการแสดงให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มี “หิพนี มะเระ” และพลพรรคอีก 6 คนเสียมากกว่า หรือหากจะกล่าวว่าตัวแทนบีอาร์เอ็นชุดนี้คือ “หุ่นเชิด” ของมาเลเซียก็ไม่น่าจะเกินเลยข้อเท็จจริง
เรายังยอมรับกันอยู่ไหมว่า ณ วันนี้บีอาร์เอ็นยังคงเป็น “องค์กรลับ” หรือ “ขบวนการใต้ดิน” อยู่เช่นเดิม แถมยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ข้อตกลง” ของคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายตนเองที่มีนายหิพนี มะเระ เป็นหัวหน้าคณะแต่อย่างใด
อีกทั้งการที่ “แกนนำ” และ “ที่ปรึกษาสภาซูรอ” ของบีอาร์เอ็นเรียงหน้าออกมาด้อยค่ารัฐไทยต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงพวกเขาถูกปลดจากตำแหน่งสำคัญๆ ในขบวนการไปแล้วทั้งนั้น เพราะหลักการองค์กรลับนี้คือ ผู้บริหารอง์กรที่ถูก “เปิดตัว” สู่สาธารณะไปแล้วจะต้องถูกตัดบทบาทและอำนาจทันที
ดังนั้น การออกมาเรียงหน้ากล่าวหารัฐไทยไม่จริงใจเจรจา หรือตัวแทนรัฐไทยไม่ต่างกับธนบัตรปลอม ตลอดจนเสียดสีว่าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยมือข้างหนึ่งถือน้ำผึ้ง แต่มืออีกข้างถือยาพิษ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ที่เป็นไปตามบทที่มาเลเซียกำกับไว้
ทั้งหมดทั้งปวงเป็นความต้องการบังคับวิถีเจรจาของมาเลเซีย และสุดท้ายแล้วต้องการให้ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยยอม “ลงนาม” ในข้อตกลงเพื่อ “ยกระดับ” ให้เป็นไปตาม “หลักการสากล” แบบที่ทุกประเทศที่มีปัญหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนต้องจำใจทำกัน
และแม้แต่ข้อเสนอที่ให้ยกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็น “เขตปกครองตนเอง” หรืออย่างน้อยเป็น “เขตปกครองพิเศษ” ข้อเสนอนี้ก็ไม่ใช่ของฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่เป็นความต้องการของมาเลเซีย ซึ่งก็มี “องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)” อยู่เบื้องหลัง
เรื่องนี้ไม่ใช่มาเลเซียเพิ่งคิดและทำ แต่ยืนยันได้ตั้งแต่สมัยที่ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนแรก เขาเคยเสนอให้รัฐไทยคืนความสงบสุขให้แผ่นดินชายแดนใต้ ด้วยการยินยอมให้เป็น “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง” มาแล้ว
ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญคือ ต้องการให้ชายแดนใต้ของไทยเป็นเหมือน “รัฐกันชน” อันจะนำมาซึ่งผลดีกับทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของมาเลเซียเอง และเวลานี้เสือเหลืองก็เล็งผลเลิศจากการที่ได้รับบท “ผู้อำนวยความสะดวกการเจรจา” ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น
หรือถ้า พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และคนในคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยไม่เชื่อและต้องการพิสูจน์เรื่องนี้ ขอเสนอว่าให้ลองยื่นข้อเสนอเข้าสู่โต๊ะพูดคุยสันติสุขครั้งใหม่ว่า ฝ่ายไทยอยากเห็น “ประธาน” และ “เลขาธิการ” ของขบวนการบีอาร์เอ็นแบบตัวจริงเสียงจริง (ที่ไม่ได้อยู่ใต้กำกับของมาเลเซีย) ได้มานั่งเจรจากันแบบตัวเป็นๆ
ตรงนี้คือ “หัวใจ” สำคัญที่สุด เพราะต้องผู้มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการได้จริงในองค์กรบีอาร์เอ็นมานั่งเจรจาเท่านั้น ไม่ใช่ให้หุ่นเชิดหรือตัวแทนที่หลุดวงจรของขบวนการไปแล้ว หากทำได้ดังนี้ก็เดินหน้าเจรจากันต่อไป แต่หากทำไม่ได้ก็ควรพับโต๊ะเก็บไป และความจริงแล้วจะ “ดับไฟใต้” ไม่ใช่ว่าต้องจบด้วยการเจรจาอย่างเดียว
ไม่มีหรอกที่กระบวนการเจรจาดำเนินมานับ 10 ปี แต่กลับไม่เคยมีการ “ลงนาม” ร่วมในข้อตกลงใดๆ เลย การเจรจาต้องไม่ดำเนินไปเพื่อ “ซื้อเวลา” หรือ “เล่นปาหี่” ไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดจบ
แน่นอนว่าที่ผ่านๆ มาคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยก็ไม่ยอมออกมาตอบโต้แม้แต่นิดเดียว จนทำให้รัฐไทยยังคงตกเป็นฝ่าย “เสียเปรียบ” มาตลอด แถมเวลานี้ยังมาถูกกระหน่ำ “ด้อยค่า” อย่างหนัก จนเป็นไปได้ว่ากำลังกลายเป็น “ตัวตลก” ในสายตาของนานาชาติไปแล้ว
ส่วนปัญหาภายในพื้นที่ชายแดนใต้เอง หาก “อ่าน” นโยบายและ “ฟัง” การแถลงข่าวของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มาต่อเนื่องก็จะเห็นอะไรที่เป็นรูปแบบเดิมๆ และเกิดขึ้นซ้ำๆ มาตลอด เพียงแต่ตอนนี้เน้นที่จะไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงภาพวิสามัญฆาตกรรมและหวังให้เกิดภาพการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมากขึ้น
เรื่องนี้ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าจะได้ผลแค่ไหน เพราะบีอาร์เอ็นยังต้องการใช้ “ความรุนแรง” หวังให้เป็น “กับดัก” จนหน่วยงานอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จำต้องปฏิบัติการตอบโต้ด้วยกองกำลังทหาร แล้วสุดท้ายจะง่ายต่อการตีตราว่ารัฐไทยเป็นฝ่ายที่ยังใช้ความรุนแรงอยู่
ถึงตอนนี้ยังต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวในชายแดนใต้กันต่อไป โดยเฉพาะกับองค์กร “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” รวมถึงกลุ่ม “เอ็นจีโอ” และ “ซีเอสโอ” ว่ามุ่งขับเคลื่อนงานมวลชนให้กับฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างไร ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งตลอดปี 2565 มานี้ต่าง “เปิดหน้า” และ “เปิดเกมรุก” กันมาเต็มที่
ดังนั้น ถ้าหน่วยงานความมั่นคงยังมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่ให้ความสำคัญ เพราะยัง “โลกสวย” อีกทั้งยังไม่จัดหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ให้เพียงพอ เพราะขนาด “นายพลใหญ่” ผู้ถักทอเครือข่ายในพื้นที่ไว้ในอุ้งมือมากมายก็ยังไม่เข้าใจบทบาทองค์กรอย่าง “ไอซีอาร์ซี” ว่าคือตัวแทนของ “องค์การสหประชาชาติ (UN)”
ที่อย่ากะพริบตาคือ แนวนโยบายให้ “อดทน อดกลั้น” เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะและมีภาพวิสามัญฯ ขึ้นอีก ซึ่งแท้จริงแล้วนโยบายนี้อาจจะเป็นได้เพียง “กอเอี๊ยะ” ปิดบาดแผลให้ดูดี เพราะถ้ารอให้เลือดและหนองระเบิดออกมาเมื่อไหร่ มีแต่ต้องนำไปสู่มาตรการ “ผ่าตัดใหญ่” อีกครั้ง