ตรัง - เกษตรกรชาว อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ลองนำโกโก้มาปลูกแซมในพื้นที่ว่างกลางร่องยาง แค่ 400 ต้น แต่ปรากฏว่าให้ผลผลิตดี แถมยังส่งขายได้ราคาดี สร้างเงินให้เดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท แถมยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายอีกด้วย
นายเวียน ศรีนุ่น อายุ 67 ปี เกษตรกรหมู่ที่ 20 ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวไปดูแปลงโกโก้ที่ปลูกเอาไว้ในพื้นที่ว่างกลางร่องยางพารา โดยจากเนื้อที่ทั้งหมด 16 ไร่ ได้ปลูกโกโก้แซมไว้ จำนวน 400 ต้น รวมประมาณ 6 ไร่ ซึ่งขณะนี้ออกผลผลิตดกเต็มต้น ทั้งที่สุกเต็มที่กำลังเก็บเกี่ยว และผลแก่จัดที่รอการเก็บ หลังจากที่เจ้าของสวนได้ไปศึกษาดูงานกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อปี 2561 จากนั้นประมาณปี 2563 ได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 15,000 บาท จึงนำมาซื้อต้นกล้าพันธุ์โกโก้ จำนวน 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์ชุมพร (ชุมพร 1 ชุมพร 2) และสายพันธุ์ IM1 (ไอเอ็มวัน) จาก จ.เชียงใหม่ จนตอนนี้อายุโกโก้ได้ประมาณ 2 ปีเศษ และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ขณะที่ยางพาราที่ปลูกร่วมมีอายุย่างเข้าปีที่ 4 และยังไม่เปิดกรีด
โดย “โกโก้” เป็นพืชที่ปลูกง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนพืชร่วมยางชนิดอื่น ประมาณ 1 ปี 8 เดือน เริ่มออกผลผลิต แต่แรกเริ่มไม่มากนัก แต่ขณะนี้ประมาณ 100 ต้น กำลังทยอยออกผล ทำให้สามารถเก็บขายได้ ผลใหญ่ น้ำหนักดี ประมาณ 2-3 ผล/กก. โดยที่ผ่านมาขายในราคา กก.ละ 7-8 บาท แต่ขณะนี้ใน จ.ตรัง มีการจัดตั้งเครือข่ายส่งเสริมการปลูกโกโก้ขึ้นมา มีหน้าที่ทั้งการส่งเสริมการปลูก และจัดหาตลาด รวมทั้งเป็นจุดรวบรวมผลผลิต ทำให้มีบริษัทติดต่อเข้ามารับซื้อในราคา กก.ละ 10 บาท ซึ่งถือว่าได้ราคาดีมาก
โดยในแต่ละเดือนสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 รอบ เพราะผลผลิตออกไม่พร้อมกัน อย่างรอบล่าสุดนี้สามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 500 กก. คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ทำให้แต่ละเดือนมีรายได้เกือบ 20,000 บาท แต่ในอนาคตเมื่อผลผลิตออกทั้งหมด คาดว่าจะสามารถเก็บได้เดือนละ 1-2 ตัน เพราะผลโกโก้น้ำหนักดี ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวน และปลูกง่าย เมื่อเริ่มติดดอกแล้วจะใช้ระยะเวลาสั้นประมาณ 2 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้ แถมโกโก้ยังสามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งปี และมีอายุยืนประมาณ 70 ปี ขนาดตัดโค่นยางพาราแล้วปลูกใหม่ไป 2 รอบ ต้นโกโก้ก็ยังอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดี
ที่สำคัญแปลงโกโก้ของตนเองไม่ใช้สารเคมีในการฆ่าหญ้า แต่จะใช้วิธีตัดหญ้า และจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น เนื่องจากความรู้ที่ได้จากการอบรมและศึกษาดูงาน และจดจำมาปฏิบัติ เกรงว่าในวันข้างหน้าหากมีการส่งผลผลิตไปขายยังต่างประเทศ หากตรวจพบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนจะกระทบต่อผลผลิตโดยรวมของเกษตรกร นอกจากนั้นจะเห็นว่าต้นยางพารา ซึ่งอายุย่างเข้าปีที่ 4 ของตนเอง ลำต้นจะใหญ่กว่ายางพาราอายุเท่ากันของแปลงอื่น เนื่องจากในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งตนต้องให้น้ำต้นโกโก้ ทำให้ยางพาราได้รับน้ำไปด้วย ส่งผลให้เกิดความเจริญเติบโตดี ลำต้นจึงใหญ่สมบูรณ์ เชื่อว่าในอนาคตเมื่อเปิดกรีดจะทำให้น้ำยางดี เปอร์เซ็นต์น้ำยางมากอีกด้วย ซึ่งเป็นผลดีของการปลูกโกโก้เป็นพืชร่วมยาง
โดยขณะนี้ทางเครือข่ายส่งเสริมการปลูกโกโก้ จะกำหนดให้แปลงโกโก้ของตนเองเป็นแปลงสาธิตการปลูกโกโก้ เพราะถือเป็นแปลงแรกของ อ.วังวิเศษ และ อ.สิเกา ที่ปลูกและมีผลผลิตออกสู่ตลาด รวมทั้งประสบความสำเร็จในการจัดการแปลง และหากมีผลผลิตออกมาจำนวนมาก รวมทั้งของเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย จะรวมตัวกันจัดตั้งเป็นเกษตรแปลงใหญ่การปลูกโกโก้ และนอกจากส่งจำหน่ายให้บริษัทแล้ว จะต่อยอดการแปรรูปเองด้วย