คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
หลังส่งมอบหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่างเป็นทางการ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ก็ขยับขึ้นไปนั่งเป็น “ผู้ช่วย ผบ.ทบ.” ซึ่งต้องถือเป็นเกียรติประวัติ เพราะอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 หลายท่านที่ย้ายไปติดยศ “พลเอก” มีมากมาย แต่น้อยมากที่จะได้เป็น 1 ใน “5 เสือ ทบ.”
สำหรับบิ๊กเกรียง กับสายงานในภาคใต้ถือว่าไม่เคยข้ามบึงมาจากที่ไหน ผ่านร้อนผ่านหนาวอยู่ในพื้นที่ทั้งภาคใต้ตอนบนและตอนล่างมาอย่างโชกโชนจนได้เป็นรองฯ แล้วก็ขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 สมภาคภูมิ จึงจัดว่าย่อมรู้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไปชาวชายแดนใต้จะได้เห็นฝีมือ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คนใหม่ นายทหารที่มาจากตระกูลดี ทำให้หลายคนเชื่อว่าในส่วนฝีมือน่าจะมีดีเช่นกัน ซึ่งไม่น่าจะทำอะไรแบบเสียของบนตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน
ถ้าพิจารณาไทม์ไลน์ของผู้ใหญ่ในรัฐบาลและกองทัพที่เคยแถลงไว้ว่า “ไฟใต้” จะต้องมอดดับหรือจบลงในปี 2570 หรืออีกราว 4 ปีข้างหน้า ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พล.ท.ศานติ ต้องทำงานหนักมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภารกิจดับไฟใต้
แน่นอนว่าต่อไปนี้ พล.ท.ศานติ จะต้องให้น้ำหนักกับ “งานการเมือง” เข้มข้นกว่า “งานยุทธวิธี” เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “บีอาร์เอ็น” หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวและปฏิบัติการอยู่เวลานี้ต้องการ “ปักธง” ให้ได้ในปี 2570 เช่นเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่ต้องการปักกลับเป็น “ธงคนละชนิด” เท่านั้น
และน่าจะไม่ต้องปิดบังอำพรางอะไรกันอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะมาเลเซียและองค์กรต่างชาติที่ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้บีอาร์เอ็นใน “กระบวนการเจรจาสันติภาพ” ต่างมีเข็มมุ่งในทิศทางเดียวกันคือ ต้องการให้แผ่นดินชายแดนใต้เป็น “เขตปกครองตนเอง” (หรืออย่างน้อยต่อรองให้เป็น “เขตปกครองพิเศษ”)
ดังนั้น ก่อนจะถึงปี 2570 เหลือเวลาอีกราว 4 ปีนับจากนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องเข้มข้นกับ “งานมวลชน” ในพื้นที่ให้มากกว่า เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าบีอาร์เอ็นมีความเพียรพยายามนำเสนอข้อตกลงขอส่ง “แกนนำ” ของฝ่ายตนเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับนักพัฒนาเอกชน (NGO) และภาคประชาสังคม (CSO) ในพื้นที่
ขอย้ำว่าประเด็นนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องมีความ “เท่าทัน” เพราะบีอาร์เอ็นต้องการให้กระบวนการเจรจาสันติภาพเดินไปตามทิศทางที่องค์กรต่างชาติออกแบบไว้ หรือให้เป็นเช่นเดียวกับ “อาเจะห์โมเดล” ที่เคยประสบผลสำเร็จที่อินโดนีเซียมาแล้ว
เป็นที่รู้กันว่าบีอาร์เอ็นใช้ซีเอสโอใต้ “ปีกทางการเมือง” ตนเองขับเคลื่อนร่วมกับเอ็นจีโอที่ “เชี่ยวชาญงานมวลชน” มานับ 10 ปี เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจกับทั้ง “มวลชนจัดตั้ง” และ “คนมลายูทั่วไป” ให้เห็นด้วยกับการยกพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย (เวลานี้น่าจะรวม อ.สะเดา เข้าไปด้วย) เป็น “เขตปกครองตนเอง”
เรื่องนี้ไม่ทราบว่าที่ผ่านๆ มานั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พยายามจัดกิจกรรมหรือหาหนทางบอกข่าวเล่าให้คนไทยทั้งประเทศ และโดยเฉพาะกับคนไทยในชายแดนใต้ ได้รับรู้เรื่องราวการกระทำของบีอาร์เอ็นไปแล้วมากน้อยแค่ไหน
แท้จริงคนในชายแดนใต้น่าจะรู้แล้วว่าแนวคิดเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” เป็นผลมาจาก “เวทีพูดคุยสันติสุข” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ชา ตั้งคณะไปเจรจากับตัวแทนบีอาร์เอ็น โดยยอมให้ “มาเลเซีย” ทำหน้าที่ “ผู้กำกับ” แถมยังมีองค์กร “เจนีวาคอลล์” กับ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” อยู่เบื้องหลัง
ที่สำคัญหลัง ต.ค.นี้คงได้เห็นทีมงาน “ไอซีอาร์ซี” กลับเข้ามาปฏิบัติการในชายแดนใต้ เพื่อสร้างสัมพันธ์มวลชนให้เข้มข้นขึ้นอีกครั้ง พร้อมช่วยจัดระเบียบภาคประชาสังคมใต้ปีกบีอาร์เอ็น และหากการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นเป็นไปตามที่ “มาเลเซีย” และ “เจนีวาคอลล์” กำหนด คนไทยอาจได้เห็น “เขตปกครองตนเอง” เกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้
เป็นไปไม่ได้ที่รัฐไทยจะเจรจากับบีอาร์เอ็นกัน “แบบหลอกๆ” โดยไม่มีการข้อตกลงที่เป็นสารัตถะหรือไม่มีการลงนามอะไรเลยแบบที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว และเป็นไปไม่ได้เช่นกันที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะยอมให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดได้ซ้ำๆ ชนิดไม่รู้จบ
เชื่อเถอะการพูดคุยสันติสุขที่อาจเกิดขึ้นอีกภายในปี 2565 อาจจะไม่มีอะไรก้าวหน้า แต่เชื่อว่านับแต่ปี 2566 เป็นต้นไปถ้ายังไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันอีก นั่นหมายถึงอาจจะต้องมีการ “ล้มโต๊ะเจรจา” เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะ “พ่ายเรือในอ่าง” กันต่อไป
หรือว่าแท้จริงแล้วเป็นความต้องการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขกับฝ่ายบีอาร์เอ็นเป็นไปแบบ “ขี่ม้าเลียบค่าย” กันต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ เพราะแม้แต่เรื่องราวการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ยังทำให้เป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” มาได้ต่อเนื่องแบบที่ไม่มีใครเหมือน
จึงต้องติดตามดูกันต่อว่าในกระบวนการเจรจานั้น ฝ่ายรัฐไทยจะถูกบีบจากองค์กร “เจนีวาคอลล์” อย่างไร ส่วนในพื้นที่ก็ต้องติดตามดูใกล้ชิดเช่นกันว่า “ไอซีอาร์ซี” จะใช้กลยุทธ์แบบไหนในการตะล่อมให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยอมคล้อยตามตามความต้องการ
และแน่นอนสิ่งที่จำต้องตามมากับเวทีเจรจาแบบหลีกไม่พ้นคือ บีอาร์เอ็นจะยังปฏิบัติการด้วยความรุนแรงในชายแดนใต้เพื่อใช้ “ต่อรอง” ต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่อง”ปกติ” ก็จริง แต่นั่นคือความสูญเสียสังคมไทย โดยไม่ว่าจะชีวิตหรือทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่หรือประชาชนก็ตาม
ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้การกำกับของ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค ต้องคิดหามาตรการป้องกันให้ได้ อย่าคิดว่าวินาศกรรมปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ สถานที่ราชการจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะวันนี้ “กองกำลังติดอาวุธ” และ “แนวร่วม” โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนชาย-หญิงของบีอาร์เอ็นมีทั้งศักยภาพและความพร้อม
อีกทั้งต้องติดตามดูการ “จัดทัพ” วางคนทำงานของแม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ส่วนหน้า คนใหม่ด้วยว่าจะไปในทิศทางไหน ที่สำคัญจะมีแนวทางของตนเองหรือยังต้องเดินตามรุ่นพี่ๆ ที่โมเดลไว้ให้ ซึ่งก็เคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเดินตามรอยเท้าแม่ทัพคนก่อนๆ มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แถมยังมักมีเรื่องอื้อฉาวให้เห็นด้วย เช่น กรณีของ “ตำรวจหญิง” ที่ถูกส่งมาเอาตำแหน่ง เงินเดือนและสิทธิพิเศษ แต่ไม่ได้มาทำงานจริง หรือกรณีถูกแฉว่ามีการทำ “บัญชีผี” รวมถึงเรื่องผลประโยชน์มากมายที่เป็นขยะใต้พรม ซึ่งคงต้องมีการสะสางเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาโดยเร็ว
ขอให้เชื่อเถอะความ “ศรัทธา” และ “ความ “เชื่อมั่น” ที่เกิดจากการส่งเสียงของประชาชนแท้จริง นั่นคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด และหน่วยงานที่ประชาชนมีความศรัทธาและความเชื่อมั่นจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาแน่นอน
ที่ผ่านๆ มา มาตรการดับไฟใต้ที่มีความ “ล้มเหลว” ปรากฏให้เห็นมากมายและบ่อยครั้ง ถ้าพูดให้ตรงเป้าแบบไม่อ้อมค้อม นั่นเป็นผลจากการขาดความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชนเป็นสำคัญ