ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผบ.ฉก.กรมทหารราบที่ 5 เผยภารกิจ “ภัยแทรกซ้อน” ที่จำเป็นต้องใช้ “ทหารหมวกแดง” ระบุจะใช้ทหารชุดปฏิบัติการพิเศษต่อกลุ่มขบวนการลักลอบสินค้าหนีภาษีรายใหญ่ในแนวชายแดน
วันนี้ (7 ต.ค.) พ.อ.ฐนิตพนธ์ หงส์วิไล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำการชี้แจงถึงภารกิจของหน่วย ที่มีภารกิจในการป้องกันชายแดนในหลายภารกิจด้วยกัน รวมทั้งในเรื่องการปฏิบัติการต่อ “ภัยแทรกซ้อน” ที่เป็นขบวนการค้าสินค้าหลบหนีภาษี ที่เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยเฉพาะกิจได้ใช้กำลังของชุดปฏิบัติการพิเศษ กองกำลังเทพสตรี เข้าตรวจค้นจับกุมนายทุนใหญ่ๆ ในแนวชายแดนภาคใต้ เช่น ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และแนวชายแดนด้าน จ.นราธิวาส ซึ่งลักลอบนำเข้าบุหรี่ สุรา เนื้อโค น้ำมันดีเซล-เบนซิน น้ำมันปาล์ม และอื่นๆ จากประเทศมาเลเซีย เข้ามาเพื่อส่งจำหน่ายในประเทศ และได้มีการนำเสนอข่าวว่า การใช้ทหารชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทหารหมวกแดง” มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
ในกรณีนี้ใคร่ขอทำความเข้าใจว่า การใช้ทหารชุดปฏิบัติการพิเศษต่อกลุ่มขบวนการลักลอบสินค้าหนีภาษีรายใหญ่ๆ ในแนวชายแดนนั้น ทางหน่วยจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดปฏิบัติการที่มีความพร้อมต่อการปฏิบัติการที่ต้องปฏิบัติการอย่างฉับพลัน รอบคอบ เพราะเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพล และมีสายข่าวที่เกาะติดการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งในการเข้าปฏิบัติการต่อเป้าหมายทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น เช่น ศุลกากร สรรพสามิต ตำรวจ ปกครอง ร่วมด้วยเพื่อความโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมาย ข่าวที่มีการนำเสนอในเรื่องการใช้ทหารชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือทหารหมวกแดง จึงอาจจะทำให้ประชาชนไม่ทราบถึงภารกิจ และข้อเท็จจริง จึงชี้แจงเพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้อง
ที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 5 มีการปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่เป็นภัยแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานมากมาย เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ รวมทั้งประชาชนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องของภัยแทรกซ้อน ว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป้าหมายในการปฏิบัติการของหน่วยอยู่ที่นายทุนรายใหญ่ๆ ในจังหวัดชายแดน เช่น จ.สงขลา จ.นราธิวาส จ.สตูล ส่วนประชาชนรายเล็กๆ ที่ลักลอบนำเข้า และค้าขายสินค้าหลบหนีภาษีตามเมืองชายแดนเหล่านี้ ทางหน่วยไม่ได้ดำเนินการจับกุมแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นวิถีชีวิตของประชาชนในแนวชายแดน