ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อบจ.ภูเก็ต วางแผนปรับโฉม “ท่าเรืออ่าวฉลอง” ให้เป็นท่าเรือที่ปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ใช้บริการ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว ด้วยการนำระบบ Ai มาใช้ ซ่อมแซมโป๊ะเทียบเรือ ช่องจอดเรือยอชต์ จัดระเบียบการจราจรบนสะพาน และวางแผนทำที่จอดรถอัจฉริยะ คาดใช้เวลา 2 ปี ได้เห็นท่าเรือฉลองโฉมใหม่
นายทิวัตถ์ สีดอกบวบ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือที่อยู่ในการดูแลของ อบจ.ภูเก็ต ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต มีท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ในการดูแลของ อบจ.ภูเก็ต จำนวน 2 ท่าด้วยด้วยกัน ประกอบด้วย ท่าเรือรัษฎา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทาง อบจ.ได้ให้สัมปทานเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ คือ บริษัท ซีทราน จำกัด และท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ทาง อบจ.เป็นผู้หริหารจัดการเอง
โดยท่าเรืออ่าวฉลองนั้น ทาง อบจ.ได้วางแผนในการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นท่าที่ได้มาตรฐานยิ่งๆ ขึ้นไป ในการให้บริการและมีความปลอดภัยสูงสุดสำหรับการให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่ง อบจ.ภูเก็ต ได้วางแผนที่ปรับปรุงและพัฒนาท่าเรืออ่าวฉลองในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบ Ai เข้ามาดูแลด้านความปลอดภัย โดยถอดบทเรียนมาจากกรณีเรือฟินิกซ์ล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายราย ด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 120 ตัว ซึ่งเป็นกล้องที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถเก็บรายละเอียดของบุคคลที่ผ่านท่าเรืออ่าวฉลองได้ทั้งหมด พร้อมทั้งมีห้องควบคุมและสามารถเชื่อมโยงกับระบบความปลอดภัยและความมั่นคงของทางจังหวัดได้ด้วย โดยขณะนี้กำลังดำเนินการ
การวางทุ่นสำหรับจอดเรือหางยาวและเรือสปีดโบ๊ตแทนการจอดตามชายหาดอ่าวฉลอง เพื่อความเป็นระเบียบสวยงามและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง โดยทาง อบจ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลบางส่วน และ อบจ.จัดสรรเพิ่มบางส่วน ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดประมูลไปแล้ว
ในส่วนของมารีน่า หรือที่จอดเรือยอชต์ ที่ทางกรมเจ้าท่าได้ทำการก่อสร้าง และให้ อบจ.ภูเก็ต เช่าบริหารจัดการนั้น มีทั้งหมด 37 ทุ่น รองรับการจอดเรือได้ 70 ลำ บางส่วนอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน เช่น เอียง ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้พร้อมสำหรับรองรับเรือแล้ว
นายทิวัตถ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของปัญหาการโป๊ะใหญ่ทั้ง 2 ลูกที่เกิดการชำรุดจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน ทางนายก อบจ.ได้เห็นชอบที่จะให้มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการจัดระบบขนส่งผู้โดยสารไปยังหน้าท่าที่จะขึ้นลงเรือ ที่ขณะนี้ใช้รถสองแถวไม้ หรือรถโพถ้อง ในอนาคตจะนำรถ EV มาใช้ และการทำที่จอดรถอัจฉริยะ ที่รองรับรถได้ถึง 200 คัน เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการเห็นชอบคณะกรรมการบริหารท่าเรืออ่าวฉลองแล้ว หลังจากนี้จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดทั้งหมด
รองนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานโครงการที่ อบจ.ภูเก็ตวางไว้ เพื่อเปลี่ยนแปลงท่าเรืออ่าวฉลองครั้งใหญ่ ให้เป็นท่าเทียบเรือที่มีความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ตมากที่สุด และคาดว่าการพัฒนาและปรับปรุงดังกล่าวตามที่วางไว้จะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปีงบประมาณ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ที่ใช้บริการ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง