xs
xsm
sm
md
lg

สุดปัง! “กล้วยหอมทองละแม” ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ส่งขายญี่ปุ่นสัปดาห์ละ 20 ตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - "กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด" ปลูกกล้วยหอมทองละแม มานาน 30 ปี จนได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รสชาติอร่อย ส่งขายญี่ปุ่นสัปดาห์ละ 20 ตัน เผยจังหวัดชุมพร มีสินค้า GI มากที่สุดของภาคใต้ ทั้งกล้วยเล็บมือนาง ข้าวเหลืองปะทิว และกาแฟเขาทะลุ-ถ้ำสิงห์


กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กล้วยหอมทองละแม” จากอำเภอละแม จ.ชุมพร เป็นสินค้า GI รายการที่ 5 ของจังหวัด ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีสินค้า GI มากที่สุดของภาคใต้ ได้แก่ กล้วยเล็บมือนางชุมพร ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร กาแฟเขาทะลุชุมพร กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร และกล้วยหอมทองละแมชุมพร


สำหรับกล้วยหอมทองละแม จังหวัดชุมพร ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการที่ 5 ของจังหวัด เป็นรายการล่าสุด กล้วยหอมทองละแม เป็นพันธุ์กล้วยหอมที่ปลูกในพื้นที่อำเภอละแม จ.ชุมพร มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น นายสำรวม ใจเปี่ยม ประธานกรรม "กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด" กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอมทองละแม ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการที่ 5 ของ จ.ชุมพร เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ได้รวมกลุ่มกันผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี เพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น โดยรวบรวมกลุ่มผู้ที่สนใจผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน 30 ปี มีที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งคาวัด อ.ละแม จ.ชุมพร


จากอดีตเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 30 คน ปัจจุบันนี้มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 300 คน มีการปลูกกล้วยหอมทองหมุนเวียนกันนำมาส่งให้กลุ่มอย่างต่อเนื่อง สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ที่ปลูกกล้วยหอมทองทุกสวนจะต้องปลอดสารพิษ 100% โดยจะมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบผลผลิตทุกสวน พร้อมให้คำแนะนำ จึงยืนยันได้ว่าปลอดสารเคมีอย่างแน่นอน


ส่วนราคาทางกลุ่มจะมีการกำหนดราคารับซื้อไว้เป็น 3 ช่วงฤดูต่อปี คือ กิโลกรัม 13 บาท 14 บาท และ 18 บาท โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนราคาจะสูงกิโลกรัมละ 18 บาท เนื่องจากเกษตรต้องลงทุนสูงเกี่ยวกับระบบการให้น้ำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ระยะเวลาในการปลูกกล้วยหอมทองจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้ระยะเวลาราว 10 เดือน

ประธานกรรมกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีการส่งออกกล้วยหอมทองละแมปลอดสารพิษให้ประเทศญี่ปุ่นสัปดาห์ละประมาณ 10 ตัน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นยังมีความต้องการมากถึงปีละกว่า 8 พันตัน


ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร สร้างอาคารบรรุจุหีบห่อ จัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะใช้ในงานบรรจุกล่อง ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งไปจำหน่ายประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรนิยมบริโภคกล้วยหอมทองจำนวนมาก


ปัจจุบันกล้วยหอมทองละแมปลอดสารพิษ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ ซึ่งเป็นข้อดีและเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดกล้วยหอมทองละแมได้เป็นอย่างดีว่าเป็นพันธุ์กล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่อำเภอละแม จ.ชุมพร จะมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น

คือ เมื่อสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อแน่น หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว เป็นสินค้าเกษตรของประทศไทยที่มีรสชาติความอร่อยเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ชุมชนในอำเภอละแม ปีละกว่า 6 ล้านบาทเลยทีเดียว




กำลังโหลดความคิดเห็น