xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง กฟภ.ลงนามล่าช้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ทำเสียโอกาสการลงทุนสร้างอาชีพใน จชต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ร้องกรณีการลงนามล่าช้าของ กฟภ. ในการจัดดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทำให้เสียโอกาสการลงทุนสร้างอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (3 ต.ค.) จากกรณีที่กระทรวงพลังงาน ได้มีการจัดดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทั่วประเทศ ในส่วนของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บริษัทที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 3 โรง และเจ้าหน้าที่รัฐได้เรียกทางบริษัทให้มีการลงนาม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ทางบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการของโรงงานได้ เพราะทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังไม่ได้ลงนาม เลื่อนมาตลอดถึง 5 ครั้ง ให้รออีก 90 วัน ซึ่งทำให้ทางบริษัทได้รับความเสียหายจากการล่าช้า เสียโอกาสการลงทุนในพื้นที่ที่จะทำให้มีการสร้างงาน จ้างงานให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นที่เปราะบาง ที่อาจมองว่ารัฐขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายชาญศักดิ์ สีดาธนะพัฒน์ ตัวแทนผู้ประกอบการที่ได้รับพิจารณาคัดเลือกสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าที่ได้ประโยชน์สำหรับชาวบ้าน สร้างพลังงานส่งโรงไฟฟ้า ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการปลูกพืชพลังงานส่งให้โรงโรงไฟฟ้า ตามราคาที่โรงไฟฟ้าให้อย่างยุติธรรม รับประกันของการรับซื้ออย่างน้อย 20 ปีตามสัญญา

นายชาญศักดิ์ สีดาธนะพัฒน์
ปัญหาอุปสรรคตอนนี้ ที่ผ่านมาเราทำตามประกาศข้อกำหนดของภาครัฐ จนเราได้รับประกาศคัดเลือก ซึ่งเราได้รับประกาศคัดเลือก 3โรงงาน ซึ่งที่ จ.ปัตตานี ปะนาเระ สายบุรี ที่ยะหาของ จ.ยะลา ที่ อ.ตากใบ ที่เกาะสะท้อน ของ จ.นราธิวาส สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ คือหลังจากเราได้ประกาศคัดเลือกแล้ว ปรากฏว่าภาครัฐเองได้เรียกเราบริษัทเอกชนไปลงนามฝั่งของเอกชนไปแล้ว ส่วนของภาครัฐการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอง เลื่อนการลงนามรอบนี้เป็นรอบที่ 5 แล้ว นี่ไม่รวมค่าเสียหายจากดอกงอกจากเงินกู้เพื่อการลงทุน ในกรณีหากบริษัทมีการกู้เงินเพื่อมาลงทุน

ด้านนายสะมะแอ สาอะ หรือยีแอท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโล PULO ในฐานะผู้ประสานงานในพื้นที่ ได้เผยกับทีมสื่อว่า นับเป็นเรื่องยินดีที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพ มีการจ้างงาน เกษตรกรจะได้มีรายได้จากการปลูกหญ้าเนเปียร์ขายให้โรงไฟฟ้า และยังสามารถนำยอดใบหญ้าเนเปียร์ตัดให้วัว ส่วนลำต้นเราสามารถนำไปขายให้โรงไฟฟ้า ในอนาคตข้างหน้าประชาชนในพื้นที่จะได้เลี้ยงปศุสัตว์ วัว ควาย แพะมากขึ้น จะทำให้ในพื้นที่มีการผลิตวัว ควายมากขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน จึงอยากให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่ใช่เลื่อนลอยเหมือนที่เป็นอยู่ เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัญหาการว่างงาน ขาดรายได้ เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่

นายสะมะแอ สาอะ หรือยีแอท่าน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น