พัทลุง - ประชาชนชาวพัทลุงต่างออกมาจับจ่ายซื้อขนมเดือนสิบกันอย่างคึกคัก เพื่อเตรียมทำบุญส่งตายาย ในประเพณีวันสารทเดือนสิบในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ราคาของขนมเดือนสิบยังคงเท่ากับปีที่ผ่านมา
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองพัทลุง ประชาชนชาวพัทลุงได้ทยอยเดินทางออกมาเลือกซื้อขนมเดือนสิบกันอย่างเนืองแน่น เพื่อเตรียมไว้สำหรับนำไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวในช่วงประเพณีวันสารทเดือนสิบ ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.)
ซึ่งจะเป็นการทำบุญวันส่งตายาย หรือการทำบุญหลัง สำหรับการทำบุญวันรับตายาย หรือทำบุญแรกที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565 ส่วนขนมที่จะใช้ในประเพณีงานเดือนสิบ ทั้งขนมเทียน ขนมลา ขนมพอง ขนมดีซำ ขนมบ้า ราคายังเหมือนปีที่ผ่านมา แม้ว่าวัตถุดิบที่นำมาทำขนมจะปรับขึ้นราคาก็ตาม โดยขนมลาแผ่น กิโลกรัมละ 220 บาท แบ่งขายเป็นพับๆ ละ 50 บาท ขนมดีซำ ขนมบ้า ขนมเทียน ชิ้นละ 2 บาท และขนมลายอด ราคาชิ้นละ 10 บาท
ด้านแม่ค้าขายขนมเดือนสิบที่ตลาดสดเทศบาลเมืองพัทลุง กล่าวว่า ปีนี้มีประชาชนชาวพัทลุงออกมาซื้อขนมเดือนสิบเตรียมไว้ก่อนที่จะทำบุญในวันที่ 25 กันยายนที่จะถึงในปีนี้มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิดคลี่คลาย และอนุญาตให้จัดกิจกรรมประเพณีวันสารทเดือนสิบทุกขั้นตอน โดยเฉพาะ “การชิงเปรต” สำหรับราคาของขนมเดือนสิบปีนี้ยังไม่ปรับราคา ยังขายในราคาเดิมของปีที่แล้ว แม้ปีนี้ราคาวัตถุดิบในการทำขนมขยับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขนมเดือนสิบส่วนใหญ่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว และวัตถุดิบอื่นก็ปรับราคาเช่นกัน
“ขนมที่จะต้องใช้ในเดือนสิบ แม่ค้าจะจัดแบ่งขายเป็นถุงๆ ไว้ด้วย รวมทั้งขนมพอง ขนมลา ซึ่งจะขายถุงละ 30-35 บาท เพื่อให้ประชาชนได้เลือกซื้อตามความต้องการ นอกจากนั้นประชาชยังได้จับจ่ายเลือกซื้อสินค้าเพื่อนำไปประกอบอาหาร และเลือกซื้อผลไม้ เพื่อนำไปทำบุญที่วัดเช่นกัน ซึ่งทำให้บรรยากาศบริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองพัทลุงคึกคักเป็นพิเศษในวันนี้” แม่ค้าขายขนมเดือนสิบ กล่าว
ขณะที่ความหมายของขนมเดือนสิบแต่ละอย่างคือ 1.“ขนมลา” มีความหมายใช้แทนเสื้อผ้าที่อุทิศให้เปรตชน หรือบางคนเชื่อว่าเส้นของลาเล็กๆ ทำเปรตกินได้ เพราะเชื่อว่าเปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม 2.“ขนมพอง” มีความหมายใช้แทนเป็นเครื่องประดับมีสีสันสวยงาม 3.“ขนมดีซำ” หรือขนมเจาะหู มีความหมายใช้แทนเงินทอง เพราะมีลักษณะกลมเจาะรูตรงลางคล้ายกับเงินสตางค์ที่มีรูตรงกลาง ซึ่งใช้กันในสมัยก่อน 4.“ขนมบ้า” มีความหมายใช้แทนเงินเหรียญเพราะมีลักษณะเป็นแผ่นกลมคล้ายเหรียญ และ 5.“ขนมเทียน” มีความหมายใช้แทนหมอน
และประเพณีวันสารทไทย หรือวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วของชาวใต้ ซึ่งการทำบุญในเดือนสิบ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญแรก หรือวันรับตายาย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11 กันยายน 2565 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นบุญหลัง หรือวันส่งตายาย ซึ่งตรงกับวันที่ 25 กันยายน 2565 ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาถือว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญใน 2 ช่วง
ส่วน “การชิงเปรต” นั้นคือหลังจากที่ญาติพี่น้องนำขนมเดือนสิบที่ทำบุญมาวาง หรือตั้งเปรต บริเวณข้างๆ อัฐิของบรรพบุรุษ เพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วกินขนมดังกล่าว และเมื่อเสร็จพิธีแล้วลูกหลานที่ร่วมในพิธี ก็ชิงขนมเดือนสิบดังกล่าวอย่างสนุกสนาน จึงเป็นที่มาของ “การชิงเปรต”