โดย.. ศูนย์ข่าวภาคใต้
สถาบันสันติศึกษา ม.อ.เผยแพร่งานวิจัยการใช้งบประมาณในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับแต่ปี 2547-2565 รวม 19 ปี ใช้งบไปแล้ว 484,134 ล้านบาท ชี้หลังการรัฐประหารทั้งปี 49 และ 57 งบชายแดนใต้มักจะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นอย่างเด่นชัด เน้นงานด้านความมั่นคง-ก่อสร้าง ไม่เน้นการศึกษา สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ
เว็บไซต์สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เผยแพร่บทความจากวารสารความขัดแย้งและสันติศึกษา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2565 เรื่อง "สันติภาพที่ไม่เสรีกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการงบประมาณตามยุทธศาสตร์และแผนงานยุทธศาสตร์งบประมาณบูรณาการเพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2560-2565" โดยมีอาจารย์ฟารีดา ปันจอร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นผู้เขียน
บทความนี้พัฒนาขึ้นจากวิจัยเรื่อง โครงการพัฒนาฐานข้อมูล งบประมาณและแผนพัฒนาในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ปีงบประมาณ 2560-2563 โดยคณะผู้วิจัยได้ปรับปรุงข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงปี พ.ศ.2565 ซึ่งเมื่อนำข้อมูลงบประมาณทั้งหมดเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ถึง 2565 เป็นเวลา 19 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง รัฐบาลไทยใช้งบประมาณไปแล้วรวมทั้งสิ้น 484,134 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 25,480.89 ล้านบาท
ผลการศึกษา พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันและการจัดการงบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ในปี พ.ศ.2557 โดยงบประมาณทั้งหมดทุกแผนงานที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสำคัญอย่างมากกับงานในด้านความมั่นคงและโครงการก่อสร้างหรืองบประมาณด้านการลงทุน แต่ไม่ได้เน้นหนักในความสำคัญในงบประมาณด้านการศึกษา สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ
"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบอบการจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยมมีแนวโน้มที่จะใช้งบประมาณสูงอย่างมากมายมหาศาลในการจัดการความขัดแย้งอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการจัดการปัญหาทั้งหมด"
ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ งบประมาณหลังจากปีที่มีการรัฐประหารมักจะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นอย่างเด่นชัด ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี พ.ศ.2557 ถึงปี พ.ศ.2561 งบประมาณเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงโด่งขึ้นตามลำดับ จาก 24,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,687 ล้านบาท 30,177 ล้านบาท 37,795 ล้านบาท และ 40,624 ล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อดูที่อัตราการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายปีในปี พ.ศ.2559 จะสูงถึงร้อยละ 17.4 และยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25.2 ในงบประมาณปี พ.ศ.2560 และเมื่อเปรียบเทียบกับการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ถึงปี พ.ศ.2551 งบประมาณรายปีเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงขึ้นมากถึงร้อยละ 31.2
หมุดหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ซึ่งทำให้มีศูนย์อำนาจใหม่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ที่มีอำนาจในการบูรณาการและกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงการจัดตั้งงบประมาณ
ทั้งยังระบุไว้ชัดว่า ในระดับปฏิบัติ กำหนดให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เป็นหน่วยงานหลัก ขึ้นตรงต่อ คปต. และดูเหมือนว่า ทำให้บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลดลง
จากนั้น ในปี 2560 รัฐบาลได้เริ่มจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการทางยุทธศาสตร์ โดยหนึ่งในนั้นคือแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรวมงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการทำงานที่เชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะอยู่กันคนละกระทรวง ในขณะที่โครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่อยู่ในแผนบูรณาการยังคงมีอยู่
มีข้อสังเกตว่า งบประมาณตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเริ่มใช้แผนบูรณาการ หากพิจารณาเพียงแผนบูรณาการ ดูเหมือนงบประมาณเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงเป็นอย่างมาก เช่น จากปี 2559 งบประมาณ 30,177 ล้านบาท ลดเหลือ 12,510 ล้านบาทในปี 2560 แต่ถ้ารวมเอาแผนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมารวมกัน งบประมาณกลับสูงมากขึ้นทุกๆ ปี นั่นคือ ปี 2560 งบประมาณ 37,795 ล้านบาท ปี 2561 งบประมาณ 40,624 ล้านบาท