xs
xsm
sm
md
lg

"ประชาธิปัตย์" ปรับทัพรับเลือกตั้ง เมื่อภาคใต้คือที่มั่นสุดท้ายที่หลายพรรคต่างหมายตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม

“ประชาธิปัตย์พร้อมสู่สนามการเลือกตั้ง” เป็นประโยคของหนึ่งในสองของขุนพลประชาธิปัตย์ภาคใต้ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวกับสื่อในส่วนกลาง เมื่อถูกถามถึงความพร้อมของการเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง

ถามว่าทำไมสื่อถึงให้ความสำคัญกับความพร้อมของ "พรรคประชาธิปัตย์" ในสนามการเลือกตั้งที่ภาคใต้ เพราะสำหรับ "ประชาธิปัตย์" ภาคใต้คือที่มั่นที่สุดท้ายที่จะต้องรักษาด้วยชีวิตกับการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ส่วนสนามเลือกตั้งในภาคอื่นๆ และแม้แต่ กทม. ยังยากที่ประชาธิปัตย์จะกลับไปปักธงเพื่อได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำเหมือนในอดีต

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยปรับกระบวนทัพ ด้วยการเอาคนรุ่นใหม่ลงสนามเลือกตั้งแทนนักการเมืองรุ่นเก่า ที่ลาออกเพื่อย้ายไปอยู่ยังพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่หอบกระสุน "เงิน" เข้ามาเพื่อแย่งชิงที่นั่งของ ส.ส.ในภาคใต้ เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคสร้างอนาคตไทย ที่พร้อมใจกันยาตราทัพเข้ามาเพื่อทำศึกสงครามในภาคใต้ เพราะเชื่อว่ามีเปอร์เซ็นต์ของชัยชนะที่สูงกว่าการไปทำศึกสงครามกับพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

สนามในภาคใต้สำหรับประชาธิปัตย์ จึงเป็น "มวยรุม" ที่มีพรรคการเมืองที่มีชื่อชั้นอย่างน้อย 4 พรรคมะรุมมะตุ้มจนกลายเป็น "มวยหมู่" ที่สร้างความเหนื่อยหน่ายให้แก่ประชาธิปัตย์มากกว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องเสียที่นั่งให้พลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ อีก 7 ที่นั่ง

แต่เชื่อว่า หลังการพ่ายแพ้อย่างยับเยินจากครั้งที่แล้วในภาคใต้ แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้ถอดบทเรียนของความพ่ายแพ้ที่ได้รับ และมีการแก้เกม มีการวางแผนในการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้อย่างรอบคอบ เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

“เลือดเก่าไหลออก” เป็นเรื่องปกติของการเมือง หลายคนออกไปกลายเป็นการขจัดจุดอ่อนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้งต้องมีการเทรนบรรดา "เลือดใหม่" อย่างไรให้เข้าตาประชาชน เพราะจุดอ่อนของว่าที่ผู้สมัครที่สำคัญที่สุดคือ ขาดประสบการณ์ทางการเมือง เขี้ยวและคมยังไม่ลากดิน อาจเสียเชิงและเสียทีให้คู่ต่อสู้ได้ง่าย

จุดอ่อนของประชาธิปัตย์ในยุคที่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เป็นหัวหน้าพรรคคือ งานด้านสื่อสารกับสังคมของพรรคในภาพรวมที่ขาดความโดดเด่น ทั้งที่ยึดกุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ที่มีผลงานในเรื่องการประกันราคาพืชผลและในเรื่องของการค้า-การขาย แต่การสื่อสารต่อสังคมของ "จุรินทร์" ยังขาดความเฉียบคม แม้แต่เรื่องของปาล์มน้ำมัน ที่สร้างความร่ำรวยให้เกษตรกรในภาคใต้ ซึ่งควรจะเป็นโบแดงของพรรค ก็ยังไม่มีการหยิบยกให้เป็นประโยชน์เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลงานของพรรค

การสื่อสารกับสังคมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องของต่างคนต่างทำ เป็นเรื่องผลงานของแต่ละบุคคล เช่น การสื่อสารกับสังคมของ "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค ที่โดดเด่นและทำให้เห็นการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน หรืออย่าง “อลงกรณ์ พลบุตร” ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผลงานค่อนข้างดี แต่ไม่ใช่เป็นการสื่อสารที่เป็นภาพรวมของพรรคโดยตรง

ที่สำคัญ วันนี้การเมืองเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว แต่ภาพรวมของการสื่อสารกับสังคมของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ทุกอย่าง ทุกเรื่องที่ใช้ในการหาเสียง เป็นนโยบายของผู้สมัครมากกว่าที่จะเป็นของพรรค

การตอบโต้ต่อการโจมตีหรือข้อกล่าวหาจากพรรคคู่แข่งของประชาธิปัตย์ ขาดการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล ที่คนฟังๆ แล้วเชื่อ ซึ่งดูๆ แล้ว น่าจะเชื่อว่าประชาธิปัตย์ขาดทีมงานด้านประชาสัมพันธ์ หรืองานการสื่อสารกับสังคมเหมือนอย่างในอดีต และเห็นชัดว่า พรรคให้ความสำคัญในตัวบุคคลในการนำพรรค

หลายพื้นที่ของสนามเลือกตั้งในภาคใต้ที่ประชาธิปัตย์ส่งผู้ที่น่าจะทราบผลล่วงหน้าว่า "แพ้" แต่ก็ยังส่งลงสมัคร เพราะเห็นแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค อย่างพื้นที่ จ.สตูล หรือจ.ระนอง เป็นต้น หรือการทำโพล และไม่ยอมรับผลโพลกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งในพรรค เช่นที่ จ.ตรัง และ จ.พังงา เป็นต้น

วันนี้ “ขุนพลประชาธิปัตย์” ต้องยอมรับความจริงว่า 3 ปีกว่าของการเป็นพรรคร่วม แม้ว่าประชาธิปัตย์จะกระเตื้องขึ้นกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าเป็น "ยุทธการล้มเสาไฟฟ้า" แต่สถานการณ์ของประชาธิปัตย์ก็ไม่ดีมากนัก สิ่งสำคัญคือต้องมียุทธศาสตร์ในการหาเสียงที่ชัดเจนและตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ได้

ในอดีตที่มีการพูดกันว่าประชาธิปัตย์ ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ได้รับการเลือกเข้ามา เป็นเพราะในอดีตฝ่ายตรงข้ามหรือพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมือง เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้นก็ส่งผู้สมัครที่เป็น "ไม้ผุ" ลงแข่งขัน จึงทำให้ชาวบ้านต้องเลือกเสาไฟฟ้าเป็นผู้แทน เพราะอย่างไรเสียเสาไฟฟ้า ก็มั่นคงแข็งแรงกว่าผู้สมัครที่เป็น "ไม้ผุ"

แต่วันนี้ด้วยการเข้าถึงข้อมูลจากการสื่อสารของประชาชนที่อยู่ในยุค 5G ที่ถึงคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและพรรคคู่แข่งก็เลือกผู้สมัครที่มีคุณภาพลงแข่งขัน รวมทั้งการทำกิจกรรมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามพัฒนาการของสังคม วิธีการและกลยุทธ์เก่าๆ ที่เคยใช้ได้ผลในยุค 2G-3G ที่ประชาธิปัตย์เคยใช้ได้ผลในภาคใต้ จึงใช้ไม่ได้อีกแล้ว

แต่ไม่ว่าอย่างไร สำหรับสนามเลือกตั้งของภาคใต้ ประชาธิปัตย์ยังได้เปรียบต่อทุกพรรคการเมือง เพราะยังมีสมาชิกพรรคที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรคที่ยังเป็นจุดแข็งของพรรค และแม้แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีจุดแข็งที่ใช้ประโยชน์เพื่อให้มี ส.ส.ได้ในทุกจังหวัด ถ้าประชาธิปัตย์รู้จักใช้คนให้เป็น

เวทีในการเลือกตั้งอยู่ไม่ไกล เพราะ "บิ๊กตู่" ได้กลับมาเพื่อไปต่อ หลังประชุมเอเปกจะมีการ "ยุบสภา" และก่อนยุบสภาต้องมีมหกรรมที่เรียกว่า "ซื้อเสียงล่วงหน้า" เพื่อความได้เปรียบของพรรคคู่แข่งของประชาธิปัตย์

ดังนั้น ประชาธิปัตย์ต้องมีความพร้อมจริงๆ เพื่อรับศึกของการรุมกินโต๊ะจากพรรคการเมืองที่มีชื่อชั้นทั้ง 4 พรรค โดยเฉพาะกับ "คนกันเอง" ที่เป็น "เลือดเก่า" ของประชาธิปัตย์ ที่ต้องหันปากกระบอกปืนเข้าใส่กับแบบซึ่งหน้า การศึกครั้งนี้ของประชาธิปัตย์จะหนักกว่าทุกครั้ง

ในฐานะที่เห็นย่างก้าวของพรรค "แม่ธรณีบีบมวยผม" มาตั้งแต่ยุคสมัยของ "คล้าย ละอองมณี" ผ่านถึง "สงบ ทิพย์มณี" "อำนวย สุวรรณคีรี" จนถึงยุคของ "นิพนธ์ บุญญามณี" และกำลังผลัดใบสู่ผู้สมัครใหม่ๆ ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่า “ประชาธิปัตย์” ยังเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่อาจจะมากด้วยเหลี่ยมคู และชั้นเชิงคนพรรคการเมืองด้วยกัน "ขยาด"

แต่ประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคการเมืองที่มีหลักการกว่าหลายๆ พรรค และไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็น "นั่งร้าน" ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็น "นายกรัฐมนตรี" ถ้าขุนพลของพรรคสู้เต็มที่ เชื่อว่า “ประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส.มากกว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น