ตรัง - สุดช็อก! มิจฉาชีพอ้างเป็น จนท.สรรพากร หลอกให้แม่ค้าเขียงหมูชาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กดลิงก์เว็บเพื่อตรวจสอบภาษี แต่กลับโดนดูดเงินเก็บทั้งชีวิตหายเกลี้ยงบัญชีเกือบ 1.5 ล้านบาท วอนทุกฝ่ายเร่งช่วยเหลือ
นางนิส ไทรงาม อายุ 63 ปี ชาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พร้อมด้วย น.ส.นิดา ไทรงาม อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นลูกสาว และ น.ส.ศิริวรรณ ไทรงาม อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ หอบเอกสารเข้าร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว หลังถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร แจ้งเรื่องค้างภาษี พร้อมแชตไลน์ส่งลิงก์ อ้างเป็นลิงก์เว็บกรมสรรพากรเข้ามา เพื่อให้ น.ส.นิดา กดลิงก์เข้าไปตรวจสอบว่ามีการค้างภาษีหรือไม่ แต่เมื่อกดเข้าไปแล้ว โทรศัพท์ค้างขึ้นหน้าจอเป็นสีฟ้า มีโลโก้กรมสรรพากร พร้อมข้อความว่า “668325 อยู่ระหว่างการทำการตรวจสอบชื่อนาม-สกุล ห้ามใช้งานโทรศัพท์” และขณะนั้นโทรศัพท์ไม่สามารถทำอะไรได้อีก เห็นแค่ข้อความเงินถูกโอนออกจากบัญชีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 1,458,000 บาท และจากธนาคารกรุงไทย จำนวน 10,000 บาท
สำหรับเงินที่โดนดูดไปนั้น ทั้ง 2 บัญชีล้วนใช้แอปพลิเคชันของธนาคารกับโทรศัพท์ จึงรีบประสานติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร และเข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ทั้ง สภ.ห้วยยอด และกองปราบปรามเทคโนโลยี ทราบเบื้องต้นว่าเงินถูกโอนเข้าบัญชีชื่อ น.ส.สุภาพร กุลอามาตย์ ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารยูโอบี และทางธนาคารได้ทำการอายัดบัญชีแล้ว แต่ขณะนี้เป็นเวลา 3 วัน ที่ทางครอบครัวนี้ต่างเฝ้ารอเงินกลับมา แต่ยังไร้วี่แวว หมดกำลังใจทำงานต่อ จึงเข้าร้องเรียนผ่านผู้สื่อข่าวไปยังผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องให้เร่งช่วยเหลือ ดูแลตรวจสอบ และลดขั้นตอนกระบวนการในการแจ้งอายัดบัญชี เพราะเมื่อกระบวนการยุ่งยาก ทำให้ไม่ทันการณ์ พร้อมฝากเตือนพ่อแม่พี่น้องให้ระวังมิจฉาชีพที่มารูปแบบใหม่ แค่กดลิงก์เพียงเสี้ยววินาที เงินเก็บทั้งชีวิตก็โดนดูดออกจากบัญชีหายเกลี้ยงภายในพริบตา
น.ส.นิดา ไทรงาม ซึ่งเป็นลูกสาว (เสื้อลายดอกสีดำ) บอกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าของวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในตอนแรกมีคนโทร.มาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ซึ่งประจวบกับที่ตนเองและแม่อยู่ระหว่างการทำเรื่องเกี่ยวกับภาษีถ่ายโอนกิจการพอดี จึงเข้าใจว่ายังคงเป็นภาษีที่ค้างอยู่ เลยคุยกับเขา แล้วเขาได้แจ้งชื่อจริง นามสกุลจริงของแม่มาอย่างถูกต้อง ต่อมาเขาส่งลิงก์เข้ามาทาง LINE ให้กดเข้าไป ซึ่งลิงก์ที่ส่งมาเป็นลิงก์รูปของกรมสรรพากร และขึ้นเป็นหน้าเว็บของกรมสรรพากร
หลังจากนั้นแจ้งให้ตนเองเขียนชื่อ นางนิส ไทรงาม ซึ่งเป็นชื่อของแม่ ไปพร้อมกับเบอร์โทรศัพท์ แต่จากนั้นเพียงไม่กี่วินาทีโทรศัพท์ก็ค้าง หน้าจอขึ้นสีฟ้า ไม่สามารถบังคับอะไรได้ หลังจากนั้นเงินถูกดูดออกไปเกลี้ยงเลยเกือบ 1.5 ล้านบาท พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า ข้อมูลของตนเองและแม่ได้เกิดการรั่วไหลมาจากกรมสรรพากร หรือแอปทั้ง 2 ธนาคารที่ใช้อยู่หรือไม่ อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะขณะนี้ยอดเงินในบัญชีของแม่ ในธนาคารไทยพาณิชย์เหลือเพียง 761 บาท และในธนาคารกรุงไทยเหลือเพียง 900 กว่าบาทเท่านั้น โดยเป็นเงินที่ตนเองตั้งใจจะเอาไปลงทุนเปิดร้าน แต่มาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเสียก่อน
น.ส.นิดา ยังกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับเลยว่าตั้งแต่เกิดเรื่องมา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทำงานล่าช้ามาก โดยตนจะต้องไปเดินเรื่องเอง และต้องคอยส่งหนังสือต่อๆ กันไป ซึ่งเงินที่หายไปคงไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่ยังให้กำลังใจตัวเองว่า ขอให้เงินยังอยู่ในบัญชี อย่าโดนถอนออกไปเลย แต่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆ ให้ได้คืนกลับมาบ้างก็ยังดี เพราะตอนนี้ไม่เหลือเลย รู้สึกไม่มีแรงทำงานเลยทั้งครอบครัว เครียดไปหมด โดยเฉพาะแม่เกือบจะมีอาการช็อก และโรคหัวใจกำเริบ ต้องรีบพาไปหาหมอรักษา
“โดยปกติ เมื่อเราเข้าแอปของธนาคาร จะต้องกดรหัสเข้าทุกครั้ง แต่นี่ตนเองไม่ได้กดรหัสผ่านอะไรเลย และไม่ได้ใส่รหัส otp อะไรเลยด้วย แต่เงินกลับหายไปได้ง่ายๆ เลย จึงอยากรู้ว่าเงินที่เราฝากไว้กับธนาคารมีความปลอดภัยแค่ไหน ตอนนี้รู้สึกว่าขาดความน่าเชื่อถือไปมาก ต่อไปเมื่อขายของมาได้คงถือเงินสดเองอย่างเดียว ไม่ฝากเข้าธนาคารอีกแล้วเพราะกลัว ตอนนี้เดือดร้อนจริงๆ เงินเก็บทั้งชีวิตของแม่ ที่เปิดร้านเขียงขายหมูอยู่ในตลาดสดห้วยยอดมา 40 กว่าปี ตอนนี้ไปหมดเลย จึงอยากฝากเตือนทุกคนว่า ตอนนี้มิจฉาชีพมาในรูปแบบใหม่ แค่คลิกลิงก์เงินก็สูญหายได้เพียงไม่กี่เสี้ยววินาที”
ด้าน น.ส.ศิริวรรณ ไทรงาม (สวมเสื้อสีแดง) ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ บอกว่า เหตุการณ์นี้เกิดบ่อยมาก แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่ทำอะไรได้ทันทีเลย จึงอยากฝากเรื่องตรงนี้ช่วยเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้มีความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะเหตุเกิดมาประมาณ 3 วันแล้วยังไร้วี่แวว เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นรู้สึกว่าความปลอดภัยของเทคโนโลยีไม่มีเลย หรืออาจจะต้องกลับไปใช้สมุดบัญชี มายื่นฝากถอนกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เพราะหากใช้แอปของธนาคาร อาจเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วความปลอดภัยของธนาคารอยู่ตรงไหน