พัทลุง - จังหวัดพัทลุง ขอขึ้นทะเบียน “ควายปลักทะเลน้อย” เป็นมรดกโลกทางการเกษตร เผยหากขึ้นทะเบียนสำเร็จจะเป็นปศุสัตว์ชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเกษตรโลก
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ห้องประชุมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นางอมรรัตน์ กาวชู เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง เป็นประธานประชุมเตรียมพร้อมประเมินพื้นที่ของคณะกรรมการ เพื่อขอรับรองให้ระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ในพื้นที่ชุ่มน้ำของทะเลน้อย เป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทย จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการขอขึ้นทะเบียนระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทย พร้อมกำหนดพื้นที่ให้คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่จริง ในการขอรับรองระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทย ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2565
โดยเพื่อให้คณะกรรมการจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พิจารณาสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เช่น ด้านวิถีการทำเกษตร การใช้สารเคมีในพื้นที่ แผนการบริหารจักการมลพิษทางน้ำ และความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ นอกจากนั้น คณะกรรมการจะได้รับฟังการนำเสนอระบบการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จากเกษตรกรผู้เลี้ยงควายโดยตรง เพื่อนำข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป หากการขึ้นทะเบียนประสบผลสำเร็จ ควายปลักหรือ (ควายน้ำทะเลน้อย) จะเป็นปศุสัตว์ชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเกษตรโลก
สำหรับการขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน เป็นหนทางส่งเสริมการอนุรักษ์ ปกป้องฟื้นฟูวิถีการทำเกษตรให้เป็นแหล่งอาหารเกิดความมั่นคง ลูกหลานไม่อดอยาก ปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการผลิต ก่อให้เกิดตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมมรดกเกษตรโลก ส่งผลให้เกษตรกรซื้อขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน ทำให้เกิดการฟื้นฟู กลายเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งท่องเที่ยว สร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้เกษตรกร และชุมชน
ส่วนเหตุผลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดพัทลุง เจาะจงเลือกควายปลัก (ควายน้ำทะเลน้อย) นั้น มาจากการสำรวจบัญชีการขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก ปรากฏว่าใน 52 ชนิดของสัตว์และพืชที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2558 ไม่มีประเทศไหนเลยที่ยื่นขอนำควายปลัก (ควายน้ำ) มาขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก และยังพบอีกว่าประเทศอื่นๆ ไม่มีควายน้ำเหมือนอย่างที่ จ.พัทลุง แม้จะดำน้ำได้ แต่ดำได้ไม่อึดทนนานเหมือนควายปลัก (ควายน้ำ) ของไทย ที่ดำนานถึงเกือบ 20 วินาที
ปัจจุบันควายที่เกษตรกรเลี้ยงในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นของเกษตรกร ต.ทะเลน้อย และ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และของเกษตรกร ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา ประมาณ 3,500 ตัว