ตรัง - ชาวบ้านบ้านเขาโหรง ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง นำทรัพยากรที่มีในพื้นที่ เช่น ไม้ฟืน เศษไม้ กะลามะพร้าว มาเผาถ่านและใช้เป็นพลังงานทดแทนในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทำเป็นถ่านอัดแท่งขายดิบขายดีจนผลิตไม่ทัน
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาโหรง หมู่ที่ 12 บ้านเขาโหรง ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ชาวบ้านได้จัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ในโครงการกิจกรรมทำดีเพื่อแม่ใช้พลังงานอย่างพอเพียง โดยมีทั้งหมด 7 ฐาน ประกอบด้วย 1.ฐานการเรียนรู้จักรยานปั๊มลม เป็นการปั่นจักรยานสูบน้ำจากแหล่งรดน้ำต้นไม้ในแปลงเกษตร แทนการรดน้ำต้นไม้โดยการติดสปริงเกอร์และใช้ไฟฟ้า 2.ฐานการเรียนรู้การเผาถ่านอย่างง่าย ทั้งเผาถ่านจากกะลามะพร้าว เผาจากเศษไม้ทั่วไป หรือเผาจากไม้ฟืนในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 3.ฐานการเรียนรู้เตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งใช้อบพืชผลการเกษตร เช่น พริกไทย พริกขี้หนู ถั่วลิสง การตากปลาเค็ม และอบถ่านอัดแท่ง
4.ฐานการเรียนรู้เตาปิ้งย่างด้วยถ่านอัดแท่งที่ผลิตขึ้นเองจากถ่านไม้ฟืน 5.ฐานการเรียนรู้การใช้เตาอั้งโล่ 6.ฐานการเผาถ่านไม้ฟืน และถ่านกะลามะพร้าว เพื่อนำมาทำถ่านอัดแท่งใช้ในการปิ้งย่าง และ 7.ฐานการเรียนรู้ในการใช้ไม้ฟืนในการต้มน้ำจากถังน้ำมันขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดไอน้ำอบก้อนเชื้อเห็ดได้ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งทุกฐานเรียนรู้จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เห็นว่า สามารถใช้และผลิตพลังงานทดแทนได้ด้วยมือเรา ประหยัดเงินในการอัดก๊าซหุงต้ม และประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้อย่างมาก พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
นางโสรญา ช่วยชะนะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาโหรง กล่าวว่า โครงการกิจกรรมทำดีเพื่อแม่ใช้พลังงานอย่างพอเพียง เป็นการรณรงค์ให้คนในชุมชนและภายนอกชุมชนได้รู้จักการใช้พลังงานทดแทน เช่น การเอาไม้ฟืน เศษไม้ กะลามะพร้าวมาเผาถ่าน การทำถ่านอัดแท่ง การทำเตาปิ้งย่างไร้ควัน การใช้ไม้ฟืนต้มน้ำอบก้อนเชื้อเห็ด รวมทั้งการใช้ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่ออบพืชพรรณทางการเกษตร ทั้งหมดนี้เป็นการลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถจัดการขยะภายในชุมชนอย่างได้ผล แทนที่จะนำไปทิ้ง เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กคนในชุมชน
ส่วน นางวิภา รุ่งรักษ์ ชาวบ้านหมู่ที่ 12 บ้านเขาโหรง ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูหลุมเผาถ่านอย่างง่าย พร้อมกับนำวัสดุในพื้นที่ เช่น ไม้ฟืนจากไม้ยางพารา ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ รวมทั้งเศษไม้ และกะลามะพร้าวมาเผาทำเป็นถ่าน แล้วนำถ่านที่ได้ไปตำให้ละเอียดด้วยครกตำข้าวแบบโบราณ ก่อนร่อนเอาส่วนที่ละเอียด จากนั้นนำแป้งมันตั้งไฟให้เดือด แล้วนำมาเทผสมกับถ่านละเอียดเพื่อให้จับตัว ก่อนยัดใส่กระบอกที่ทำอย่างง่ายจากท่อพีวีซี แล้วอัดด้วยของแข็งทำเป็นถ่านอัดก้อน เมื่อนำไปตากแดดให้แห้งสามารถนำมาใช้ได้ในครัวเรือน ทั้งแกง ต้ม ปิ้งย่าง เพื่อประหยัดก๊าซหุงต้ม เพราะบ้านของตนอยู่อาศัยกันหลายคน ก๊าซจะสิ้นเปลืองมาก และราคาแพง
นอกจากนั้น ยังสามารถนำถ่านอัดก้อนใส่ถุงส่งขายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน เนื่องจากขณะนี้มีการสั่งเข้ามาจำนวนมากจนผลิตไม่ทัน โดยเฉพาะร้านหมูกระทะที่เกิดขึ้นจำนวนมากมายในยุคนี้ หรือชาวบ้านที่ซื้อไปทำหมูกระทะกินเองที่บ้าน จนมีเท่าไรก็ไม่พอขาย เพราะถ่านอัดก้อนเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยขายในราคากิโลกรัมละ 20 บาท แต่ในอนาคตอาจปรับราคาขึ้น เพราะถ่านอัดแท่งมีคุณภาพดี ติดไฟนาน ไม่มีควัน ไม่สิ้นเปลืองเหมือนกับถ่านไม้ทั่วไป