ตรัง - มทร.ศรีวิชัย ส่งเสริมให้ชาวบ้านบนเกาะสุกร จ.ตรัง นำปุ๋ยผสมเปลือกปูม้ามาใช้ปลูก “แตงโมลอยฟ้า” ในโรงเรือน ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องห่วงปัญหาเรื่องฟ้าฝน
โครงการวิจัยการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนธนาคารปูม้าพื้นที่ชายฝั่ง จ.ตรัง และกระบี่ ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 นำโดย ดร.วิกิจ ผินรับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และอาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง ในฐานะหัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ทั้งใน จ.ตรัง และจาก จ.นครศรีธรรมราช ร่วมเป็นวิทยากรฝึกอบรมการยกระดับการใช้ปุ๋ยผสมเปลือกปูม้า เพื่อนำไปปลูกแตงโมแบบโรงเรือนต้นแบบ “แตงโมลอยฟ้า” พันธุ์โบอิ้ง 787 ให้กลุ่มวิสาหกิจแตงโมชุมชนเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง แหล่งปลูกแตงโมชื่อดังของ จ.ตรัง
ดร.วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากกรณีศึกษาแนวทางการปลูกแตงโม โดยปกติชาวบ้าน ต.เกาะสุกร นิยมการปลูกในแปลงเปิดกลางแจ้งเหมือนพืชชนิดอื่นๆ ทั่วไป แต่มักปลูกได้ผลดีในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น แต่ช่วงหน้าฝนมักมีปัญหาการระบาดของโรค และแมลงศัตรูพืช ทำให้แตงโมมีคุณภาพ และผลผลิตลดลง ดังนั้น การปลูกแตงโมลอยฟ้าในโรงเรือนจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง และจะทำให้สามารถปลูกแตงโมได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ถือเป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากการปลูกแตงโมที่ขึ้นชื่อของเกาะสุกร ซึ่งพื้นที่มีทั้งหมดประมาณ 300 ไร่
ด้าน ผศ.ชำนาญ ขวัญสกุล ในฐานะผู้ร่วมวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า ได้ทำการปลูกแตงโมใน 4 รูปแบบ คือ 1.ปลูกแตงโมแบบกลางแจ้งทั่วไป 2.ปลูกแตงโมในโรงเรือนแบบยกร่อง 3.ปลูกแตงโมลอยฟ้าในโรงเรือนแบบยกร่อง และ 4.ปลูกแตงโมลอยฟ้าในโรงเรือนแบบใส่กระสอบ ซึ่งการทดสอบดังกล่าวได้มีการนำปุ๋ยผสมเปลือกปูม้า ซึ่งได้จากการศึกษา และส่งเสริมจาก มทร.ศรีวิชัยตรัง เช่นเดียวกัน โดยการนำเปลือกปูม้า ซึ่งได้จากพี่น้องประมงในพื้นที่มาผลิตทำปุ๋ยจนสำเร็จ และมีคุณภาพดีมาใช้ในการผสมการเตรียมดิน ก่อนที่จะทำการปลูกแตงโมทั้ง 4 รูปแบบ ปรากฏว่าการปลูกแตงโมลอยฟ้าในโรงเรือนแบบใส่กระสอบจะได้ผลดีที่สุด เนื่องจากโรงเรือนสามารถควบคุมปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชได้ดี คุ้มค่าต่อการลงทุน และทำให้แตงโมมีลวดลายที่เหมือนกัน และการปลูกแตงโมแบบนี้มีระดับความหวานอยู่ 12.3° Brix (องศาบริกซ์) ซึ่งถือเป็นความหวานที่มากที่สุดจากการทดสอบปลูกแตงโมทั้ง 4 แบบ
สำหรับโครงการวิจัยดังกล่าว นอกจะเป็นการส่งเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาต่อยอดการสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว การปลูกแตงโมลอยฟ้าในโรงเรือน โดยใช้ปุ๋ยผสมเปลือกปูม้า ยังถือเป็นการสร้างแนวคิดด้านการใช้ประโยชน์จากเปลือกปูม้า ให้เกิดความคุ้มค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เนื่องจากเปลือกปูม้ามีแคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้คุณภาพของแตงโมมีรสชาติที่ดีขึ้น และมีความแข็งแรงของต้นกล้า รวมทั้งปลอดสารพิษ ไม่มีสิ่งตกค้าง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพสาย healthy ถือเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในขณะนี้ และที่สำคัญคือ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง และหากต้องขนส่งไปใช้ใส่แตงโมบนเกาะสุกร ปุ๋ยเคมีจะยิ่งแพงมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกแตงโมนอกฤดู ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าแตงโมในฤดู จึงช่วยให้ชุมชนมีรายได้ตลอดทั้งปี