ทัศนะ โดย... เมือง ไม้ขม
การยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง "รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย" ของ "นิพนธ์ บุญญามณี" ก่อนการเข้ารายงานตัวต่อศาลทุจริตประพฤติมิชอบฯ หลังจากที่ ป.ป.ช.ฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 ในกรณีที่ไม่จ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้ชนะการประมูลในการขายรถซ่อมถนนอเนกประสงค์ให้ อบจ.สงขลา ในครั้งที่ "นิพนธ์" ยังดำรงตำแหน่งนายยก อบจ.สงขลา
นับเป็นการลาออกที่ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกาลเทศะ ซึ่งในใบลาที่ "นิพนธ์" ยื่นเพื่อที่จะใช้เวลาในการต่อสู้คดี โดยที่จะได้ไม่มีข้อครหาและการค่อนแคะ จากทั้งฝ่ายแค้นและฝ่ายค้าน ที่เรียกร้องมาโดยตลอดให้นิพนธ์ ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งมีการลุ้นให้ศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติส่งฟ้องต่อศาลทุจริตฯ
การลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้จะทำให้ยุติเรื่องที่ "นิพนธ์" ถูกร้องเรียนในเรื่องสถานะทางการเมือง ที่มีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญเตรียมที่จะชี้ขาดในประเด็นนี้ ในวันที่ 14 กันยายนที่จะถึงนี้
กลับมาลงรายละเอียดในเรื่อง "ข้อกล่าวหา" ของ ป.ป.ช. ที่ส่งสำนวนฟ้องต่อศาลทุจริตฯ ไม่ได้กล่าวหาว่า "นิพนธ์" ทุจริตประพฤติมิชอบ แต่ชี้ว่า "นิพนธ์" มีความผิดที่ไม่จ่ายเงินให้บริษัทที่ชนะการประมูลในการขายรถยนต์ซ่อมถนนของ อบจ.สงขลา
ในกรณีนี้ “นิพนธ์” ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลายต่อหลายครั้งว่า สาเหตุที่ไม่จ่ายเป็นเพราะตรวจสอบพบว่าบริษัทที่ชนะ "ฮั้ว" ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายในการประมูล เพื่อการเอาชนะคู่แข่งในครั้งนี้
หลังจากที่บริษัทผู้ชนะการประมูลยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ทั้งระดับจังหวัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. เพื่อบังคับให้ อบจ.สงขลาจ่ายเงินจำนวน 51 ล้านบาทให้บริษัท ในฝั่งของ "นิพนธ์" ก็ปฏิเสธการจ่าย โดยชี้แจงกับทุกหน่วยงานถึงเหตุผลที่ยังจ่ายไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว
และในที่สุด การใช้ความพยายามในการรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดกับบริษัทดังกล่าว ที่เป็นผู้ฟ้องร้อง "นิพนธ์" ประสบความสำเร็จ เมื่อศาลทุจริตฯ ภาค 9 ออกหมายจับเจ้าของบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้องในการฮั้วประมูลครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดี หลายคนอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี
คดีที่ ป.ป.ช. ฟ้อง "นิพนธ์" มีข้อให้ประชาชนสงสัยอยู่ในหลายประเด็นว่า ป.ป.ช. มีธงที่จะต้องฟ้องให้ได้หรือไม่ ไม่ได้พิจารณาในประเด็นของการฮั้วงานจากบริษัทผู้ชนะการประมูลหรือไม่
เริ่มจากการที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง "นิพนธ์" ต่อสำนักงานอัยการสูงสุด แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง หลังจากนั้น ป.ป.ช.จึงได้ฟ้องด้วยตนเองต่อศาลทุจริตฯ โดยมีการแถลงข่าวที่จะไม่ฟ้องต่อศาลทุจริตฯ ภาค 9 แต่จะฟ้องที่ศาลทุจริตฯ กลาง ที่กรุงเทพฯ โดยอ้างเหตุผลว่า “นิพนธ์” เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หากฟ้องที่ศาลทุจริตฯ ภาค 9 อาจจะทำให้ "นิพนธ์" ใช้อิทธิพลเข้าไปทำให้ยุ่งเหยิงกับพยานในคดีนี้
คดีที่ ป.ป.ช.ฟ้อง "นิพนธ์" ในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำ ซึ่งอาจจะมีใบสั่งจากบุคคลที่อยู่เหนือ ป.ป.ช.ก็ได้ โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้ฟ้อง "นิพนธ์" อาจจะทำมาหากินในวิธีการเดียวกันกับที่ใช้ในการฮั้วประมูลกับ อบจ.สงขลา ไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ การที่ "นิพนธ์" ไม่ยอมให้ อบจ.สงขลาจ่ายเงิน อาจทำให้กลุ่มผู้หนุนหลังเสียผลประโยชน์ จึงเกิดการ "มีธง” เพื่อจัดการกับ "นิพนธ์" โดยไม่ต้องดูเหตุผลเรื่องของการฮั้วงานเป็นส่วนประกอบของคดี
เรื่องนี้มีผู้ออกมาแสดงความเห็นและให้ความเห็นใจ "พินธ์ บุญญามณี" ในกรณีที่เป็นผู้รักษาผลประโยชน์ให้แผ่นดิน ที่ถูก ป.ป.ช.ฟ้องเป็นจำเลย เพียงเพราะไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้ที่ทุจริต และมีผู้ที่ชื่นชมในการลาออกจากตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย” เพื่อไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาว่า ใช้ตำแหน่งต่อสู้คดี ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนักการเมืองด้วยกัน