คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตกเป็นจำเลยสังคมอย่างหนัก แถมล่าสุดยังปล่อยให้มีการนัดก่อวินาศกรรมคืนเดียวได้ถึง 18 จุด เป็นปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อ 17 จุด และเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ 1 จุด ทั้งหมดเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเหลือเพียง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อยที่ยังรอดพ้นอยู่
แม้เวลานี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังหาคำตอบหรือหาคำแก้ตัวให้แก่สังคมไม่ได้ว่า วินาศกรรมทั้ง 18 จุด มีสาเหตุมาจากอะไร กองกำลังในพื้นที่บกพร่องตรงไหน งานการข่าวทำไมจึงไม่มีประสิทธิภาพ ทำได้เพียงชี้นิ้วไปที่คณะพูดคุยสันติสุข ว่าเป็นชนวนเหตุทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่พอใจ
ขณะที่ก่อวินาศกรรม 18 จุดยังไม่คลี่คลาย กลับเกิดเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมาใหม่ กรณี “ส.ต.ท.หญิง” สังกัดกองบัญชาการตำรวจสันติบาล และได้ช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถูกคดีทำร้าย “ส.ท.หญิง” ที่เป็นทหารรรับใช้ จนมีการแจ้งความดำเนินคดีและกลายเป็นข่าวใหญ่โตต่อเนื่องมาหลายวัน
เรื่องเกิดที่ จ.ราชบุรี ก็จริง แต่จำเลยสังคมกลายเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะมีการแฉว่า “ส.ต.ท.หญิง” ได้ใช้เส้นสายของ “พลเอกนอกราชการ” ที่ยังมากบารมีในกองทัพฝากเข้าให้ได้ไปช่วยราชการด้านการข่าวที่ชายแดนใต้ แต่ไม่เคยไปทำหน้าที่แม้แต่วันเดียว
คำถามของผู้คนทั้งประเทศจึงดังกระหึ่มและพุ่งเป้าไปที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงเรื่อง “บัญชีกำลังพลผี” ที่มีชื่อ แต่ไม่มีตัวตนเข้ามาทำหน้าที่ในหน่วย ซึ่งเรื่องอย่างนี้สังคมเล่าลือกันมานมนานแล้ว แต่ทำได้แค่นั้นเพราะไม่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นแบบจะจะอย่างกรณีของ “ส.ต.ท.หญิง” ที่กำลังเป็นข่าวฉาว
คำเล่าลือหนาหูที่ว่าคือ บางหน่วยมี “บัญชีผี” มากถึง 50-60 คน มีการเบิกจ่ายเพื่อเข้ากระเป๋า “นาย” เดือนละ 5-6 แสนบาท จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และถ้าทุกกรมกองมีการปฏิบัติเยี่ยงนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่ามีการทุจริตไปแทบทุกอณูภายใน “กองทัพ” ซึ่งนับเป็นเรื่องเสียหายต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะ “ส.ต.ท.หญิง” ที่มีชื่อช่วยราชการงานการข่าว ซึ่งถือเป็นงานสำคัญและเป็นประเด็นที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าถูกโจมตีว่าไร้ประสิทธิภาพมาตลอด เนื่องจากเข้าไม่ถึงความเคลื่อนไหวฝ่ายบีอาร์เอ็น ไม่เคยรับรู้เบาะแสว่าบีอาร์เอ็นจะมีปฏิบัติการอะไร ที่ไหน อย่างไร จึงไม่เคยมีมาตรการป้องกันที่ได้ผล
เวลานี้มีคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องสะสาง “บัญชีผี” เพื่อสร้างศรัทธาและเรียกความเชื่อมั่นคืนมา โดยเฉพาะกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “ผู้นำหน่วย” จะต้องใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาส ด้วยการรื้อทิ้งกองขยะทั้งที่อยู่บนพรมและใต้พรมให้สิ้นซาก ยกเลิก “กำลังพลผี” ที่เป็นผลประโยชน์ของนายทหารระดับสูงให้หมดไป แล้วสร้างความโปร่งใสให้เกิดมาแทนที่
เรื่องนี้ได้แต่แอบหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังมีอำนาจเต็ม หากประสาทหูและประสาทตายังไม่เสื่อม ในการโยกย้ายประจำปีที่จะมีขึ้นอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็เป็นได้
กลับมามองไฟใต้ต่อ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 18 จุดคืนวันที่ 17 ส.ค.2565 ผ่านไป เวลานี้ต้องนับว่าสถานการณ์ยังร้อนระอุต่อเนื่อง ยังมีการก่อเหตุร้ายแทบจะรายวันทั้งการใช้ระเบิดและใช้อาวุธซุ่มโจมตี มีตำรวจและทหารพรานบาดเจ็บและเสียชีวิต
เวลานี้ผู้นำหน่วยอย่าง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเลขาธิการ ศอ.บต. ต้องทำงานหนักหน่วงอย่างมากกับการตระเวนเยี่ยมเพื่อปลอบขวัญและจ่ายเงินเยียวยา รวมถึงเป็นประธานงานศพ
แน่นอนมีหลักฐานชี้ชัดว่าการก่อวินาศกรรมระลอกใหญ่ 18 จุดครั้งนี้เป็นปฏิบัติการของกองกำลังบีอาร์เอ็น ถึงแม้ต่อมาจะมีการกล่าวอ้างจากฝ่ายบีอาร์เอ็นว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับนักการเมือง อันเป็นการสาดสีแบบไม่มีเหตุผลรองรับก็ตาม
สำหรับเดือนสิงหาคม 2565 นี้ต้องถือเป็นเดือนที่มีความสูญเสียอย่างสำคัญ โดยไม่ได้สูญเสียแค่ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อและอื่นๆ เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงเราสูญเสียโอกาสในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย และนั่นจะทำให้เกิดการว่างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดการจ้างงานตามมามากมาย รวมถึงเรายังสูญเสียรายได้อันจะเกิดจากการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว เพราะสถานการณ์ต่างๆ มีแต่จะทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยไม่เชื่อว่าไฟใต้ดีขึ้นอย่างที่ประโคมโหมโห่กันไว้
วันนี้มีนิ้วหลายนิ้วชี้ไปที่ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ว่าได้สร้างเงื่อนไขให้บีอาร์เอ็นสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นมาเพื่อยกระดับจาก “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ได้เป็น “องค์กรก่อการร้าย” ที่มีเป้าหมายของการแบ่งแยกดินแดน แถมมีองค์กรจากชาติตะวันตกรองรับสถานะนี้ และกำลังขยับที่จะใช้เวทีสหประชาชาติในการเรียกร้องต่อรัฐไทยเข้าไปทุกขณะ
ถ้าเป็นจริงดังว่า ก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร จะเดินหน้าพูดคุยต่อไปเพื่อให้เกิดความเพลีฃี่ยงพล้ำแบบถลำลึกให้บีอาร์เอ็นกระนั้นหรือ
หรือว่ารัฐบาลควรจะชะลอกระบวนการพูดคุยไว้ก่อน เพื่อกลับมาตั้งหลักแล้วปรับกระบวนท่า เปลี่ยนตัวบุคคล เพื่อให้ได้คนที่เข้าใจและรู้จริง โดยเฉพาะรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของทั้งบีอาร์เอ็นและเอ็นจีโอจากชาติตะวันตก ที่สำคัญรู้เหลี่ยมคูของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเบี้ยล่างให้ฝ่ายบีอาร์เอ็น
ที่สำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรงนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะดำเนินการอย่างไร การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม แล้วจบที่วิสามัญฯ ซึ่งเป็นงานด้านยุทธวิธีอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ เพราะถ้าทำให้ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นลดได้จริง เหตุการณ์อย่างในคืนวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาคงไม่เกิดขึ้น
ที่สำคัญที่สุดสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องพิจารณาคือ แนวร่วมเหล่านี้ไม่แยแสกับกฎหมาย ไม่สนใจกระแสสังคม โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่ที่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่บีอาร์เอ็นทำ แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวอันตราย สิ่งเหล่านี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะดำเนินการอย่างไรเพื่อหยุดความรุนแรง หรือการก่อเหตุวินาศกรรมอย่างที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะกับหลายเมืองเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นยะลา เบตง สุไหงโก-ลก ปัตตานี แม้กระทั่ง “เมืองหาดใหญ่” ใน จ.สงขลา ถ้าบีอาร์เอ็นต้องการที่จะก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มาบอกให้เรารู้แล้วว่า ถ้าต้องการทำก็ไม่น่าจะยาก และที่สำคัญเราไม่มีขีดความสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมการป้องกันเลยด้วย
ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานทุกหน่วยที่มีส่วนรับผิดชอบดับไฟใต้จึงจำเป็นต้องร่วมกันกำหนด “ยุทธศาสตร์” ที่ชัดเจนได้แล้ว เพื่อจะได้ตัดวงจรการเงิน การจัดตั้งและบ่มเพาะนักรบรุ่นใหม่ รวมถึง มีการข่าวที่เข้าถึงบีอาร์เอ็นได้อย่างแท้จริง
แม้แต่ยุทธศาสตร์ในการที่จะได้ไม่ต้องพูดคุยกับองค์กรเปิด เช่น “สมัชชา” โน่น นี่ นั่น หรือกระทั่ง “ดอเลาะ” หรือ “สาและ” ต่างๆ ที่ถูกวางให้เป็น “ตัวเปิด” เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์กับฝ่ายเรา มีแต่กลับสร้างประโยชน์กับฝ่ายเขา อีกทั้งเราต้องมียุทธศาสตร์ในการ “เข้าถึง” บรรดา “แกนนำ” ที่อยู่เบื้องหลังองค์กรและคนเหล่านี้ด้วย
ณ ตรงนี้จึงอยากถามว่า วันเวลาที่ผ่านไปกว่า 18 ปีของไฟใต้ระรอกใหม่ เราได้ทำกันบ้างแล้วหรือยัง
หรือจะเอาแบบอย่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ใช้เวลาร่าง “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้” ผ่านมา 2 ปีแล้วก็ยังร่างกันไม่เสร็จ ยังไม่ได้ใช้ และทำเสมือนว่าเป็นเรื่องเด็กเล่นขายของไปวันๆ ที่ไม่มีอะไรรีบร้อนและไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ ทั้งที่ถ้าหากเราพลาดพลั้งเมื่อไหร่ อาจหมายถึงการสูญเสียดินแดน
วันนี้ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...” ผ่านสภาผู้แทนไปแล้ว ในอนาคตถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจน นั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ไฟใต้เข้าทางบีอาร์เอ็น และ องค์กรต่างชาติมากยิ่งขึ้น
เปล่าหรอก!! ไม่ได้บอกให้เชื่อ เพียงแต่บอกให้ฟัง และให้ไปหาข้อมูลเอาเอง?!?!