xs
xsm
sm
md
lg

เร่งติดตามคดีทุจริตยางชุมนุมสหกรณ์ตรังกว่า 300 ล้าน เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีกเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เจ้าหน้าที่เร่งติดตามคดีทุจริตยางชุมนุมสหกรณ์ตรังกว่า 300 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง หลังตำรวจกองปราบเพิ่งจับกุมอดีต ผจก.ชุมนุมสหกรณ์ฯ เพราะยังมีอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้อง และมีผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคน

ที่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ซึ่งประกอบธุรกิจรับฝากยางจากสหกรณ์สมาชิก และเป็นตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา พบว่าบรรยากาศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการชุดใหม่ นำโดย นายสมพร เต็งรัง ประธานกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2563 และได้พยายามเข้ามากอบกู้กิจการที่เกือบล้มละลาย จากการที่ นางนิตรดา อาจเส็ม อายุ 47 ปี อดีตผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ร่วมกับพวกทุจริตยางของชุมนุมสหกรณ์ฯ ไปขายนำเงินเข้ากระเป๋า สร้างความเสียหายรวมกว่า 300 ล้านบาท

กระทั่งล่าสุด ตำรวจกองปราบปรามติดตามจับกุมอดีตผู้จัดการคนดังกล่าวได้ที่ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะหลบหนีหมายจับศาลจังหวัดตรัง จำนวน 4 คดี ประกอบด้วย คดีรับของโจร และคดีฉ้อโกง คดีร่วมกับพวกทุจริตขายยาง-คดียักยอกยาง และคดีลักทรัพย์นายจ้าง (ยางของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง) โดยนางนิตรดา หนีไปกบดานในพื้นที่ จ.ราชบุรี จากนั้นถูกนำตัวกลับมาส่งศาล และติดคุกที่เรือนจำจังหวัดตรังนั้น


นายสมพร เต็งรัง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตในชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง รวมกว่า 300 ล้านบาท ประกอบกันหลายคดี ในจำนวนนี้เป็นความเสียหายจากการที่อดีตผู้จัดการเอายางของชุมนุมสหกรณ์ไปขายในนามของบริษัทตัวเอง มูลค่าความเสียหายที่มีหลักฐานชัดเจนอยู่ที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ เป็นเงิน 146 ล้านบาท สำนวนคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการ และเมื่อตำรวจจับตัวอดีตผู้จัดการได้แล้ว เชื่อว่าอัยการจะส่งฟ้องศาลในเร็วๆ นี้ ส่วนสำนวนที่ 2 ของชุมนุมสหกรณ์ฯ คือเมื่อปี 2561 อดีตผู้จัดการรายนี้ได้ลักทรัพย์ยางของชุมนุมสหกรณ์ฯ จำนวน 3.5 ล้านตัน ไปขายให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยขายในรหัสของตัวเอง คดีนี้ศาลพิพากษาลับหลังจำเลยหลบหนี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ตัดสินจำคุก 1 ปี

ส่วนคดีรับของโจร และคดีฉ้อโกง ในคดีตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม จำนวน 10 ฉบับๆ ละ 5 ล้านบาท รวมจำนวน 50 ล้านบาทนั้น ศาลได้ตัดสินจำคุกไว้ 1 ปี 6 เดือน นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกรณี เช่น เรื่องของการปลอมสัญญาซื้อขายยาง จาก 124,000,000 ล้านบาท เหลือ 100,000,000 ล้านบาท ซึ่ง 24,000,000 ล้านบาทนั้น เอาไปแบ่งปันกับพวก โดยชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้เสียหาย ตอนนี้ร้องทุกข์อยู่ที่ สภ.เมืองตรัง หรือเรื่องของการโอนเงินซ้ำซ้อนให้ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสุราษฎร์ธานี เป็นเงิน 4 ล้านบาทเศษ แต่ได้เงินคืนมาบ้างแล้ว คงเหลืออีกประมาณ 3,000,000 บาทเศษ ซึ่งมีอดีตผู้จัดการรายนี้เกี่ยวข้องกับลูกน้องด้วยจำนวนหนึ่ง ล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของการที่เอายางของชุมนุมสหกรณ์ฯ ไปขายกับเอกชน โดยอ้างว่ารับฝากยางจากการยางแห่งประเทศไทย อีกจำนวน 94 ตัน ซึ่งล่าสุดสำนักงานป้องกันป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการได้มาสอบข้อเท็จจริงกับตนเองแล้ว


เบื้องต้น คาดว่ามีผู้ใหญ่ของการยางแห่งประเทศไทย บางคนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยทั้งหมดทำเป็นขบวนการ ด้วยการสร้างหลักฐานเท็จว่านำยางมาฝากกับชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง โดยเวลาที่ส่งหนังสือนำฝากมาถึงชุมนุมสหกรณ์ฯ พร้อมทะเบียนรถที่ใช้ขน วันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. แต่เจ้าหน้าที่ธุรการของชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ลงหนังสือรับเอกสารว่ามีหนังสือขอฝากยางจากหน่วยธุรกิจของการยางแห่งประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการตรวจสอบทีหลังพบว่าในวันเวลาเดียวกันของวันนั้น เลขทะเบียนรถคันที่ใช้ขนทั้ง 3 คัน รวมทั้งน้ำหนักยางทั้งหมดกำลังเข้าเครื่องตาชั่งในเวลา 09.15 น. เวลา 09.17 น. และเวลา 09.21 น. เพราะฉะนั้นถือว่ามีความผิดชัดเจน เรื่องนี้อยู่ที่กองปราบปราม ซึ่งรับปากกับชุมนุมสหกรณ์ฯ ว่าเป็นคดีที่สร้างความเสียหายต่อเกษตรกร และเศรษฐกิจ จะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อช่วยเหลือชุมนุมสหกรณ์ฯ ต่อไป รวมทั้งคดีที่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดพัทลุง แจ้งความเอาผิดอดีตผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ฯ ตรังรายนี้ ก็เป็นขบวนการเดียวกัน ทำเป็นเหมือนกับลักษณะไซฟ่อนเงิน แต่นี่เป็นการไซฟ่อนยาง เป็นการกระทำที่สร้างความปั่นป่วน แล้วเอาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง และพวกพ้อง


นายสมพร เต็งรัง กล่าวอีกว่า ส่วนความเชื่อมั่นในหมู่สหกรณ์สมาชิก และเครือข่ายสถาบันกับชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังดีขึ้นอย่างน่าพอใจ หลังจากกรรมการบริหารชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยช่วงแรกมีสหกรณ์สมาชิกมาขายยางวันละ 20-30 ตัน แต่ปัจจุบันได้รับความเชื่อถือมากขึ้นตามลำดับ มียางทั้งจากสหกรณ์สมาชิก สถาบันต่างๆ และเอกชน นำยางมาขายให้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น บางวันได้มากถึงกว่า 200 ตัน ทำให้มีเงินหมุนเวียนทั้งซื้อ ทั้งขายยางไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนกรณีที่สหกรณ์สมาชิก จำนวน 12 สหกรณ์ เคยเอายางมาฝากไว้กับอดีตผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ฯ ตรัง เมื่อปี 2560-2561 มูลค่าความเสียหายประมาณ 14,000,000 บาท ปัจจุบันทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ทยอยจ่ายคืน คงเหลืออีกไม่เกิน 8 ล้านบาทแล้ว และจะเร่งทยอยจ่ายคืนทั้งหมด แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ซึ่งสหกรณ์สมาชิกก็เข้าใจ และพร้อมให้โอกาส




กำลังโหลดความคิดเห็น