กระบี่ - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล กรมประมง ศึกษาวิจัยและเพาะพันธุ์ “ปลากัดกระบี่” ปลากัดพันธุ์เฉพาะถิ่นที่เดียวในโลกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้สำเร็จชุดแรก พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้ว 70 ตัว
วันนี้ (17 ส.ค.) นายเจริญไชย ศรีสุวรรณ์ ประมง จ.กระบี่ พร้อมด้วย นายณัฐชพงศ์ เพชรฤทธิ์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านในพื้นที่ได้นำลูกพันธุ์ปลากัดกระบี่ ซึ่งเป็นปลาสวยงาม หายากและใกล้สูญพันธุ์ นำกลับมาปล่อยคืนถิ่นในพื้นที่ จ.กระบี่ หลังทำการวิจัยและเพาะพันธุ์ได้สำเร็จ ตามนโยบายของกรมประมง
นายณัฐชพงศ์ เพชรฤทธิ์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำปลากัดกระบี่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Betta simplex เป็นปลากัดชนิดอมไข่ไว้ในปาก มาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในจังหวัดกระบี่ เนื่องจากปลากัดชนิดนี้เป็นปลากัดชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นมีเฉพาะจังหวัดกระบี่ที่เดียวในโลก ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล ได้มาทำการศึกษาทางชีววิทยา สำรวจและรวบรวมพันธุ์ไปศึกษาการเพาะพันธุ์ จนประสบความสำเร็จ ได้ลูกปลาชุดแรกกลับมาปล่อยคืนธรรมชาติ จำนวน 70 ตัว
ด้านนายเจริญไชย ศรีสุวรรณ์ ประมง จ.กระบี่ กล่าวว่า สำหรับปลากัดกระบี่ ปัจจุบันทางกรมประมงได้ขึ้นบัญชีเป็นปลาหายาก มีที่เดียวของโลก ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล มีลักษณะคล้ายกับปลากัดทั่วไป เมื่อตัวเต็มวัยมีขนาด 4-5 ซม. โดยปลากัดกระบี่ มีลักษณะเด่นคือ เมื่อตัวเมียวางไข่ ตัวผู้จะอมไว้จนฟักออกมาเป็นตัว จึงอยากให้ชุมชนช่วยกันดูแล เพราะเป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ ในส่วนของประมงจังหวัดจะหาวิธีการอนุรักษ์ โดยจะประกาศเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลากัดกระบี่ต่อไป
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้มูลว่า ก่อนหน้านี้ได้มีคนนอกพื้นที่มาว่าจ้างให้คนในพื้นที่ทำการจับปลาชนิดดังกล่าว เพื่อนำออกไปขายอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ หลังจากนี้จะช่วยกันอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับท้องถิ่นต่อไป