โดย พักตร์พริ้ง สโรชา
การแถลงข่าวของกรมประมงเพื่อเปิดตัวคณะกรรมการกุ้ง (Shrimp Board) ในวันนี้ (8 สิงหาคม 2565) ยิ่งแถลงก็ยิ่งมีข้อกังขา ยิ่งเจาะลึกเข้าไปในสมาชิกของ Shrimp Board ก็ให้งงเข้าไปอีกว่า ทำไมจึงประกอบด้วย อธิบดีกรมประมง และภาคเอกชนรายใหญ่กลุ่มห้องเย็นและโรงแปรรูปกุ้งหลายราย มีรายชื่อเกษตรกรเป็นสมาชิกพอเป็นกระษัย ไม่ครบถ้วน และกล่าวไม่ได้ว่าเป็นผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งประเทศ
แบบนี้แน่นอนว่าการออกเสียงในประเด็นต่างๆ ย่อมเป็นไปตามแนวทางที่สมาชิกกลุ่มใหญ่ต้องการ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการอนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ และอินเดียแบบเงียบๆ จนกระทั่งเพิ่งมาโป๊ะแตก เมื่อรัฐบาลเอกวาดอร์ออกข่าวดังเสียเองว่า ส่งกุ้งของเขาเข้าเมืองไทยได้แล้ว อารามดีใจของเอกวาดอร์ทำให้เกษตรกรกุ้งไทยถึงบางอ้อ และเต็มไปด้วยข้อกังขามากมาย
ข้อกังขา 1 : ทำไมจึงต้องนำเข้า?
ไม่เคยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรตัวไหนที่ไม่ส่งผลกระทบถึงผลผลิตในประเทศ และปกติแล้วถ้าจะนำเข้าสินค้าเกษตรที่ไทยผลิตได้เองจะทำกันบนหลักการและเหตุผลว่าผลผลิตนั้นขาดแคลน แต่ขณะนี้กุ้งไทยไม่ได้ขาดแคลน จึงไม่ใช่เหตุผลที่สมควรนำเข้า สร้างความสนใจว่าเพราะอะไรกัน จึงเกิดการอนุมัตินำเข้านี้ขึ้นมา
ข้อกังขา 2 : ยกระดับแบรนด์คู่แข่ง ด้อยค่าแบรนด์กุ้งไทย?
กรมประมงบอกผลผลิตกุ้งขาวของไทย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 65) ทำได้ 129,100.44 ตัน ขณะที่ตั้งเป้าผลผลิตทั้งปี 2565 ไว้ราว 320,000 ตัน เหลือระยะเวลาอีก 5 เดือน ต้องเพิ่มผลผลิตอีก 190,000 ตัน แต่กรมประมงอนุมัตินำเข้ากุ้งต่างชาติ บั่นทอนความมั่นใจเกษตรกรในการลงกุ้งเข้าเลี้ยง จึงแทบไม่มืทางเลยที่ไทยจะบรรลุเป้าหมายผลผลิตปีนี้
เอกวาดอร์เป็นกุ้งราคาถูก มีผลผลิตสูงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ระดับมาตรฐานการผลิตและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยในอาหารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศไทย เขาจึงดีใจนักที่สามารถส่งออกกุ้งมายังไทยได้ จึงมองได้ 2 แง่นั่นคือ การนำเข้ากุ้งครั้งนี้จึงเท่ากับช่วยยกระดับแบรนด์กุ้งเอกวาดอร์เทียบชั้นกุ้งไทย หรืออีกแง่คือ กุ้งไทยลดเกรดลงมาเทียบเท่ากุ้งเอกวาดอร์แล้ว ... ย่อมไม่เป็นผลดีกับกุ้งไทยทั้งในวันนี้และในอนาคต
ข้อกังขา 3 : ละเลยการพัฒนา?
การนำเข้ากุ้ง เป็นการแก้ปัญหาง่ายๆ ให้กลุ่มห้องเย็นที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ไทยเคยชินกับการแก้ปัญหาแบบนี้ และที่สำคัญ การวิจัยพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมจะถดถอย ล่าช้าลงไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นหายนะใหญ่หลวงของประเทศ ดังที่ได้เห็นกรมประมงยาหอมเกษตรกรมาตั้งแต่ต้นปี แต่จนวันนี้ไม่มีอะไรคืบหน้าชัดเจนในแผนฟื้นฟู
ข้อกังขา 4 : แนวทางแก้ปัญหาโรคอยู่ที่ไหน?
ในการแถลงข่าว อธิบดีกรมประมง ไม่พูดถึงวิธีการจัดการปัญหาเรื่องโรค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อัตราเลี้ยงรอดของกุ้งเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยที่จำเป็นมากในการเพิ่มผลผลิตกุ้งไทย ข้อย่อยๆ ที่เอ่ยมีเพียง “บริการตรวจโรค และคัดกรองลูกกุ้งปลอดเชื้อ” ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ งบประมาณวิจัยวัคซีน หรือการผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ไม่มีออกมาจากปากท่านอธิบดีแม้แต่น้อย หรือแม้แต่จำนวนนักวิชาการประมง ที่จะลงพื้นที่จับมือภาคเอกชนหาหนทางช่วยเกษตรกรอยางเต็มที่อย่างที่เคยทำในอดีต ก็ไม่เอ่ยถึงสักคำ ดังนั้น อย่าหวังว่าเป้า 4 แสนตันในปีหน้าจะได้เห็นกัน
ข้อกังขา 5 : ขอซื้อกุ้งนอกราคาถูก เพื่อจะได้ไม่ต้องมากดราคากุ้งไทย?
เป็นตรรกะป่วยของผู้แถลงข่าวท่านหนึ่ง ทำเอาคนเป็นเกษตรกรงงอีกครั้ง เหตุใดจึงไม่ซื้อกุ้งไทยซึ่งเป็นกุ้งคุณภาพดีไปเสียเลย แม้จะราคาสูงกว่ากุ้งนอกแต่เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ซึ่งเท่ากับช่วยผลักดันอุตสาหกรรมกุ้งของทั้งประเทศให้เติบโตไปด้วยกันทั้งห่วงโซ่ เมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้นห้องเย็นก็จะซื้อกุ้งไทยได้ในราคาถูกลงตามกลไกตลาด เหมือนกุ้งไทยในอดีตที่ทั่วโลกยอมรับว่าสุดยอด เพราะเป็น Local Content เกือบทั้ง 100% ใช้วัตถุดิบในประเทศแทบทั้งหมด
เกษตรกรบางส่วนอาจยอมรับกลยุทธ์การตั้งราคาขั้นต่ำรับซื้อกุ้งเพื่อแลกกับการนำเข้ากุ้งเอกวาดอร์และอินเดีย แต่บางส่วนก็ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นวิธีอันแยบยลซึ่งทำให้ห้องเย็นได้กำไรสูงกว่าการซื้อกุ้งในประเทศนั่นเอง
ท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ลงนามแต่งตั้งคณะนี้ ควรเปรียบเทียบบทบาทของ Egg Board และ Pig Board ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าตั้งด้วยจุดประสงค์ชัดเจน เพื่อเกษตรกรไทย และยกระดับอุตสาหกรรมโดยรวมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ถึงเวลาทบทวนบทบาทและการทำงานของ Shrimp Board ก่อนจะกลายเป็นคณะกรรมการที่สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยแทนการพัฒนา ยิ่งได้เห็นรองโฆษกสำนักนายกฯ ให้ข่าวในวันอาทิตย์ยืนยันการนำเข้ากุ้งแทนกรมประมงด้วยแล้ว บอกตรงๆ รู้สึกดีไม่ได้เลย