xs
xsm
sm
md
lg

วอนนายกฯ เบรกกรมประมงนำเข้า "กุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย" เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ผู้เลี้ยงกุ้งตกใจ ถามเกิดอะไรขึ้น กรมประมงอนุญาตนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์-อินเดีย พร้อมพิจารณาอนุมัตินำเข้ากุ้งแปรรูปเพิ่ม ชี้กระทบการสร้างแบรนด์-ความเชื่อมั่นกุ้งไทย ขัดแย้งกับคำประกาศของอธิบดีกรมประมงคนใหม่ที่จะนำกุ้งไทยไปทวงแชมป์กุ้งโลก

วันนี้ (4 ส.ค.) เว็บไซต์ SeafoodNews.com รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลเอกวาดอร์ระบุว่า กรมประมงของไทยอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากฟาร์ม 36 แห่งในเอกวาดอร์ และกำลังพิจารณาอนุมัตินำเข้ากุ้งแปรรูปจากเอกวาดอร์ด้วย ซึ่งข่าวนี้สร้างความตระหนกตกใจแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยของไทยอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข่าววงในแจ้งอีกว่า กรมประมงอนุมัตินำเข้ากุ้งจากอินเดียอีกประเทศหนึ่งด้วย

แหล่งข่าวในแวดวงผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้รายหนึ่ง กล่าวว่า เกิดอะไรขึ้นกับกรมประมงไทย อธิบดีกรมประมงคนใหม่เพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่ง พร้อมประกาศวิสัยทัศน์นำกุ้งไทยทวงแชมป์กุ้งโลก จะส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตกุ้งไทยให้ได้ 4 แสนตันภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตกุ้งในตลาดโลก ยาหอมเกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งให้หลงคารม และเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของอธิบดีที่ตั้งใจให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 1 ของโลกอีกครั้ง

การอนุมัตินำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมด์จากเอกวาดอร์ และอินเดียเข้ามาแปรรูปและส่งออกจากประเทศไทย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ กระทบการสร้างแบรนด์กุ้งไทย กระทบความเชื่อมั่นกุ้งไทยที่โดดเด่นทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน และภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งของไทย

การนำเข้ากุ้งดังกล่าวเป็นการทำลายแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิตกุ้งของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เพราะมันกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งในประเทศ ตลอดจนระบบการผลิตกุ้งของไทยในระยะยาว จากความเสี่ยงในการนำโรคติดต่อประจำถิ่นของกุ้งต่างชาติ เข้ามาระบาดซ้ำเติมกุ้งไทยอีก ซึ่งนั่นหมายความว่า เป้าหมายการเพิ่มผลผลิต 4 แสนตันในปีหน้าไม่มีวันเป็นจริง

ในอดีตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงจากปี 2553 ถึงร้อยละ 53.90 จากปัญหาโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ซึ่งทำให้ผลผลิตกุ้งไทยยังไต่ขึ้นมาถึงระดับเดิมไม่ได้จนทุกวันนี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังต้องเร่งพื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ เร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าของไทย แต่กลับไม่ช่วยเหลือเกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งไทย และหันไปส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรเอกวาดอร์และอินเดียแทน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเอกวาดอร์และอินเดียปฏิเสธการนำเข้าพันธุ์กุ้งของไทยมาแล้วอย่างไร้เยื่อใย

"หวังว่า นายกฯ จะระงับคำสั่งอนุมตินำเข้าดังกล่าวโดยทันที ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งไทยและเกษตรกรตาดำๆ หลายหมื่นราย"


กำลังโหลดความคิดเห็น