ตรัง - ชาวบ้าน ต.ลิพัง ร้องคัดค้านสัมปทานโรงโม่หิน ระบุสภาพพื้นที่เป็นหุบเขา มีโรงเรียน ตชด.ตั้งอยู่ มีการขุดพบวัตถุโบราณ และเป็นแหล่งต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตคนทั้งตำบล หวั่นทำลายทรัพยากรที่รักและหวงแหน
วันนี้ (19 ก.ค.) ที่สำนักสงฆ์ศิลาแก้ว บ้านหินจอก หมู่ 6 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ตัวแทนชาวบ้าน ต.ลิพัง เคลื่อนไหวคัดค้านการขออนุญาตขอประทานบัตรเหมือนแร่ หรือคัดค้านการสัมปทานโรงโม่หินในพื้นที่ หมู่ 6 ต.ลิพัง เนื้อที่ประมาณ 173 ไร่ 1 งาน ที่มีนายทุนพยายามยื่นขอสัมปทานบัตรจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพราะมีการประกาศขึ้นบัญชีเป็นแหล่งแร่อุตสาหกรรม จ.ตรัง โดยที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ได้เคลื่อนไหวคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง และมีการขึ้นป้ายคัดค้านเต็มพื้นที่ ระบุเป็นพื้นที่มีสถานที่ราชการสำคัญ คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตั้งอยู่
นอกจากนั้น ยังได้รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต จากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกสร้างความรู้รัก สามัคคี ปรับเปลี่ยนจากอดีตเคยเป็นผู้บุกรุกเพื่อที่อยู่อาศัย แต่มาถึงรุ่นนี้ได้ร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าไม่ให้มีการถูกทำลาย เป็นแหล่งต้นน้ำจากภูเขาหลายสาย หล่อเลี้ยงชาวบ้านในชุมชน และยังมีการขุดพบแหล่งวัตถุโบราณอีกมากมาย และอยู่ใกล้กับถ้ำเลสเตโกดอน แหล่งธรณีโลก จ.สตูล หวั่นหากมีการระเบิดหินจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งตำบล 7 หมู่บ้าน ไม่เฉพาะหมู่ 6 แหล่งที่ตั้งเท่านั้นที่เดือดร้อน โดยครั้งนี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 4
นายอำนวย มากมูล ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ปัญหาการขอสัมปทานโรงโม่หินเกิดขึ้นมายาวนานแล้ว แต่ชาวบ้านคัดค้านมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้รุนแรงมากกว่าเดิม เพราะมีนายทุนอย่างน้อย 4-5 บริษัท พยายามยื่นขอสัมปทาน แต่ชาวบ้านไม่ยอมแน่นอน พวกตนจะคัดค้านให้ถึงที่สุด เพื่อเก็บทรัพยากรเอาไว้ให้ลูกหลาน พื้นที่นี้มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาเยี่ยมบ่อยครั้ง ทำให้สภาพพื้นที่มีความเจริญ ชาวบ้านต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า พระองค์ทรงห่วงใยลูกหลานชาวหินจอก ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้
ทั้งนี้ ถ้าเกิดการระเบิดหินจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นน้ำของชาวบ้าน เพราะภูเขาหินจอก เป็นต้นกำเนิดน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน มีน้ำหลายสายไหล ทั้งจากทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ออกมาจากใต้ภูเขา และไหลไปบรรจบกันบริเวณที่จะมีการขอสัมปทาน ขณะเดียวกัน สภาพพื้นที่ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ซึ่งตอนนี้การขอสัมปทานอยู่ในขั้นตอนที่ 2 การสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมตัวกันและยื่นหนังสือหลายหน่วยงาน เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง อบต.ลิพัง ศูนย์ดำรงธรรม กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับ นายสมสุข สุขลิ้ม ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า หากสร้างโรงโม่หิน หรือระเบิดหิน ชาวบ้านทั้งตำบล หรืออย่างน้อย 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2, 6, 7 จะได้รับผลกระทบแน่นอน และก่อนหน้านี้ มีการส่งหนังสือเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น ระบุเชิญเฉพาะชาวบ้านหมู่ที่ 6 แล้วทำไมไม่เชิญหมู่บ้านข้างเคียงที่ผลกระทบไปถึงเช่นกันมาร่วมเวที ความจริงแล้วควรเชิญมาทั้งตำบล เพราะ ต.ลิพัง เป็นตำบลขนาดเล็ก มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน และอยู่ติดแนวภูเขาทั้งหมด ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับการสัมปทานของรัฐแน่นอน