ตรัง - ชาวบ้านชุมชนชายฝั่ง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง กว่า 200 ครัวเรือน ร้อง ส.ส. เดือดร้อนหนัก กรมเจ้าท่าเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำพร้อมค่าปรับย้อนหลังแสนแพง ทั้งที่อยู่อาศัยกันมาบนที่ดินของตัวเองหลายชั่วอายุคนแล้ว เหตุน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจนมาท่วมที่ดินเดิม
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่ห้องประชุมท่าเทียบเรือหาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ชาวบ้านพร้อมด้วยประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง เครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนา เข้าร้องเรียนต่อนายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ช่วยเหลือกรณีกรมเจ้าท่าเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และค่าปรับอีกเท่าตัว ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย
กรมเจ้าท่า ระบุว่า ชาวบ้านอยู่หลังปี พ.ศ.2515 จึงต้องเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนรายปี แต่ชาวบ้านและตัวแทนชุมชนชายฝั่ง ต.เกาะลิบง ยืนยันว่า ชุมชนของชาวบ้านเป็นชุมชนดั้งเดิม อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนประมาณ 200-300 ปี การก่อสร้างบ้านสมัยก่อนไม่ได้รุกล้ำลำน้ำ แต่ถูกคลื่นซัดจนผืนทรายหายไป ทำให้น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจนเข้ามาถึงที่ดินกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด และมาถึงตัวบ้านและสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านทั้งเก่าและใหม่ที่สร้างทดแทนบ้านหลังเดิม หรือสร้างในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์
"ชาวบ้านขอให้ ส.ส.นำปัญหาไปผลักดันให้ชุมชนเกาะลิบงเป็นชุมชนดั้งเดิม เช่นเดียวกับเกาะปันหยี จะได้ยกเว้นการจัดเก็บค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเหมือนกัน เพราะบริบทพื้นที่ อาชีพ และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนอยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนเหมือนกัน โดยการจัดเก็บค่าตอบแทนดังกล่าว เป็นการปิดกั้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนและการทำอาชีพของประชาชน"
ด้านนายนิพันธ์ กล่าวหลังรับหนังสือว่า ปัญหาของชาวบ้านมีทั้งหมด 3 เรื่อง คือ 1.ปัญหาการจัดเก็บค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของกรมเจ้าท่า เบื้องต้น ให้ อบต.เกาะลิบง เร่งประชุมสภาเพื่อรับรองความเป็นสภาพชุมชนดั้งเดิมไป ส่วนตัวจะไปเร่งผลักดันให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับกรมเจ้าท่า กำหนดให้เกาะลิบงเป็นชุมชนดั้งเดิมต่อไป
2.การทำมาหากินในประมงชายฝั่งของชาวบ้าน เช่น กระชังสัตว์น้ำ ต้องขออนุญาตทำประมงถึง 4 หน่วยงาน ทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมเจ้าท่า กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ยุ่งยาก ชาวบ้านเดือดร้อนมากในการทำกิน ซึ่งเรื่องนี้จะไปแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาล เพื่อไปกำหนดเป็นนโยบายการแก้ปัญหาต่อไป และ 3.เรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขบนเกาะลิบง
สำหรับสภาพในเกาะลิบงนั้น พบว่า ชาวบ้านชุมชนชายฝั่ง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กว่า 200 ครัวเรือน เดือดร้อนอย่างหนักจากการที่กรมเจ้าท่าเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยกรมเจ้าท่าได้ส่งรายชื่อชาวบ้านปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำใน ต.เกาะลิบง เพื่อให้ อบต.เกาะลิบง ดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในราคาตารางเมตรละ 5 บาท โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ ในที่นี้รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และกระชังสัตว์น้ำ ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 มีผลบังคับใช้ ให้เสียค่าตอบแทนในวันที่ได้รับอนุญาต สำหรับปีต่อไปให้เสียค่าตอบแทนไม่เกินวันที่ครบกำหนดรอบปี นับแต่วันดังกล่าว
ในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินค่าตอบแทนที่ค้างชำระนั้น และในปี 2562-2564 มีการระบาดของเชื้อโควิด จึงทำให้มีการเรียกเก็บเงินย้อนหลัง พร้อมค่าปรับรายปีดังกล่าว เท่ากับว่าชาวบ้านแต่ละรายต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็น 2 เท่าของทุกปี ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ครอบครอง โดยแต่ละรายถูกเรียกเก็บย้อนหลังรวมประมาณรายละ 2,000-8,000 บาท
เช่น นส.อับสะ สารสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 4 ซึ่งมีพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่ 4 ต.เกาะลิบง ถูกเรียกเก็บเงินค่าตอบแทน ปี 2563-2564 ปีละ 620 บาท ค่าปรับปีละ 620 บาท รวมค้าง 2 ปี รวมถูกเรียกเก็บเป็นเงิน 2,480 บาท
ชาวบ้านบอกว่า ค่าตอบแทนและค่าปรับแพงมหาโหด ทั้งที่พวกตนเองอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายประมาณ 200-300 ปี ถือเป็นชุนชนดั้งเดิม โดยบ้านเรือนสมัยก่อนไม่ได้สร้างในน้ำ มีต้นมะพร้าวขึ้นจำนวนมาก และสะพานท่าเรือบ้านบาตูปูเต๊ะ ยังไม่ได้สร้างในจุดปัจจุบัน แต่ต่อมาถูกการก่อสร้าง และคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทำให้ทรายหายไป ต้นมะพร้าวหายไป จนกระทั่งน้ำทะเลลึกเข้ามาถึงพื้นที่ตั้งบ้านเรือน ซึ่งบ้านเรือนส่วนหนึ่งพังเสียหาย แต่ชาวบ้านยากจนไม่ได้สร้าง หรือซ่อมแซมรักษาสภาพ แต่เมื่อมีเงินก็มาสร้างใหม่
"ปรากฏว่าหลังปี 2560 ที่กรมเจ้าท่าลงสำรวจ พบมีการก่อสร้างใหม่ จึงถูกกำหนดว่ารุกล้ำลำน้ำ ถูกเรียกเก็บเงินค่าตอบแทน เหมือนกับต้องจ่ายค่าเช่าบ้านของตัวเอง และบางรายถูกฟ้องร้องดำเนินคดี"
นางวลิดา เจริญฤทธิ์ เจ้าของบ้านเลขที่ 12/2 หมู่ 4 ใน ต.เกาะลิบง กล่าวว่า บ้านและโฮมสเตย์ของตนเองก่อสร้างในที่ดินกรรมสิทธิ์ ส.ค.1 เคยถูกสึนามิซัดบ้านพังในปี 2547 บ้านจึงเหลือแต่เสาที่ล้ม และไม่มีเงินสร้างใหม่ และมาสร้างใหม่หลังปี 2560 ทำให้เจ้าท่าลงตรวจสอบ และถูกจับกุมดำเนินคดี ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นศาล ส่วนตัวยืนยันก่อสร้างในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เคยเข้ามาตรวจสอบ และออกหนังสือยืนยันว่าพวกตนอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ไม่ได้รุกล้ำพื้นที่เขตห้ามล่าฯ และให้เอาหนังสือยืนยันต่อกรมเจ้าท่า แต่สุดท้ายกรมเจ้าท่าไม่รับฟัง จึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
"อยากให้มีการผลักดันให้ชุมชนชายฝั่งเกาะลิบงเป็นชุมชนดั้งเดิม จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่กรมเจ้าท่า และอยากให้ศาลรับฟัง"
ขณะที่ นางกูเสี๊ยะ สารสิทธิ์ ชาว ต.เกาะลิบง กล่าวว่า เดิมน้ำทะเลไม่ได้เข้ามาถึงใต้ถุนบ้าน อยู่ห่างไปหลังบ้าน บริเวณบ้านจะมีต้นมะพร้าวขึ้น ซึ่งชาวบ้านไม่มีใครสร้างบ้านในน้ำแน่นอน แต่ถูกคลื่นซัดจนพื้นทรายหายไป และน้ำกัดเซาะเข้ามาถึงบ้าน จึงถูกเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตั้งแต่ปี 2562-2565 ปีละ 1,145 บาท แต่ไม่ได้จ่าย เนื่องจากตัวเองเดิมตกสำรวจ แต่มาถูกเรียกเก็บย้อนหลัง และถูกเรียกเก็บค่าปรับเท่ากับเงินต้นค่าตอบแทนคือ ปีละ 1,145 บาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 6,870 บาท เช่นเดียวกับชาวบ้านรายอื่นๆ ถูกเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนปีละนับพันบาท และถ้าค้างจ่ายจะถูกเรียกเก็บค่าปรับปีละนับพันบาทอีก
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านแต่ละรายบอกว่า พวกตนไม่มีเงินจ่าย มีรายได้พอกินไปแต่ละวันเท่านั้น จึงเรียกร้องขอให้ อบต.และกรมเจ้าท่ายกเลิกการเก็บ เพราะทุกคนอาศัยอยู่ในที่ดินดั้งเดิมที่ได้รับเป็นมรดก การจ่ายค่าตอบแทนให้กรมเจ้าท่า เท่ากับจ่ายค่าเช่าบ้านเป็นรายปี