ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ฝรั่งทำป่วน! ป้ายเตือน “หากเกิดสึนามิให้หนีขึ้นที่สูง หรือไปฟินแลนด์” ตรวจแล้วไม่พบคำผิดตามที่ระบุ ยันเป็นป้ายรุ่นเก่า ทำตั้งแต่ปี 58 ล่าสุดปี 64 เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด พร้อมเพิ่มข้อความเป็น 3 ภาษา ไทย อังกฤษ และจีน
จากกรณีเพจเฟซบุ๊กชื่อ Very Finnish Problems โพสต์ภาพ ภาพป้ายเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์ (Tsunami Hazard zone) ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงภัยสึนามิ ผู้โพสต์ระบุว่า ถ้าอ่านเพียงภาษาไทยก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะมีรูปพร้อมข้อความระบุ ว่า พื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์ ส่วนข้อความภาษาอังกฤษระบุว่า TSUNAMI HAZARD ZONE
แต่ที่ผิดสังเกตคือข้อความที่อยู่ใต้รูปคลื่น ภาษาไทยระบุว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้หนีห่างจากชายหาดและขึ้นที่สูงโดยเร็ว ส่วนภาษาอังกฤษ ว่า "IN CASE OF EARTHQAKE. GO TO HIGH GROUND OR FINLAND" ซึ่งหากชาวต่างชาติได้อ่านจะเข้าใจประมาณว่า "หากเกิดแผ่นดินไหว ให้ขึ้นไปพื้นที่ สูงหรือไปประเทศฟินแลนด์" อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการแชร์ภาพดังกล่าวออกไปโพสต์นี้ก็กลายเป็นกระแสดรามาทันที
ล่าสุด วันนี้ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ปลายแหลมสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่มีการระบุว่าป้ายดังกล่าวถูกติดตั้งอยู่ที่บริเวณปลายแหลมสะพานหิน ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบป้ายตามลักษณะที่มีการนำมาโพสต์ไว้ และพบว่าขณะนี้บริเวณปลายแหลมสะพานหินได้นำป้ายแบบใหม่มาติดแล้ว โดยป้ายเตือนดังกล่าวทำเป็นป้าย 3 ภาษา ตัวหนังสือคมชัด มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ส่วนข้อความเจ้าปัญหาที่ผู้โพสต์ระบุว่าในป้าย "IN CASE OF EARTHQAKE. GO TO HIGH GROUND OR FINLAND" ในป้ายใหม่ได้ระบุว่า "IN CASE OF EARTHQAKE. GO TO HIGH GROUND OR INLAND"
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ ปภ.18 และ ปภ.จังหวัดภูเก็ต ระบุว่า จากการตรวจสอบรูปแบบป้ายที่ชาวต่างชาตินำมาโพสต์ พบว่า เป็นป้ายที่ทำขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งบางป้ายอาจจะผิดบ้าง แต่กได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อความ และใช้ป้ายดังกล่าวมาถึงปี 2564 และเมื่อปี 2564 ทางท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการติดป้ายเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิใหม่แล้ว ซึ่งติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง โดยทำเป็นป้ายเตือนภัย 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน นอกจากนั้น ยังมีป้ายที่ทำเป็นเสา และป้ายที่ทำบนถนน
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งดูแลพื้นที่บริเวณปลายแหลมสะพานหิน กล่าวว่า หลังจากมีโพสต์และภาพป้ายเตือนภัยดังกล่าวแชร์ออกมา ทางเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบพื้นที่ แต่ไม่พบป้ายตามที่โพสต์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบป้ายชุดเก่าที่เก็บออกจากพื้นที่ไม่พบป้ายที่มีข้อความตามที่ผู้โพสต์ระบุ ปัจจุบันป้ายเตือนภัยคลื่นยักษ์ได้มีการติดตั้งใหม่ และทำเป็นป้าย 3 ภาษาแล้ว