xs
xsm
sm
md
lg

“แม่ทัพภาคที่ 4-หัวหน้าคณะพูดคุย” จะตั้งรับอย่างไรเมื่อบีอาร์เอ็นรุกฆาตทั้งการทหารและการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

ไฟใต้ระลอกใหม่ผ่านไป 18 ปีแล้ว แต่ยังมีเรื่องราวหรือความเชื่อที่ยังถกเถียงกันไม่จบ โดยเฉพาะเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีชื่อเรียกว่า “บีอาร์เอ็น” ว่า มีอยู่จริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแค่ไหน และทหารกับคนในพื้นที่คิดเห็นกันอย่างไร

ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้มาตรการดับไฟใต้เป็นไปแบบ "ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก" เพราะได้ลุกลามขยายวงไปถึง “ศูนย์กลางอำนาจ” แล้วเช่นกัน ทำให้เห็นชัดว่าหน่วยงานความมั่นคงขาดทั้งเอกภาพและข้อมูล อีกทั้งมีชุดความจริงคนละชุดตามแต่ทีมงานจะชงให้

อย่างช่วง 2 ปีในสมัยที่ “แม่ทัพอาร์ท” ไม่เคยมีการเอ่ยถึงบีอาร์เอ็นเลย สถานการณ์ทุกอย่างถูกโยนไปให้เป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” แต่ยังอุตส่าห์มีโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกพูโลหรือไม่ก็บีอาร์เอ็นที่ถูกปลดระวาง โดยเป็นการจัดสรรงบประมาณให้ด้วย

แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเชื่ออย่างไร สิ่งที่ยังดำรงอยู่คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีอยู่จริง ไม่ได้เป็นละครที่ถูกเขียนบทขึ้นมาลอยๆ แถมมีผู้กำกับการแสดงที่ใช้งบประมาณแผ่นดินปีละ 30,000 ล้านบาท ส่วนจะมีรั่วไหลหรือเงินทอนอะไรหรือไม่ หรืออย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตากัน

เพราะจากปฏิบัติการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา มีทั้งข้อมูลยืนยันและหลักฐานชี้ชัดว่า บีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลังและมี 2 ปีกใหญ่คือ ปีกแรกควบคุมปฏิบัติการด้านการทหารในชายแดนใต้ อีกปีกควบคุมปฏิบัติการด้านการเมือง

น่าสนใจว่าปฏิบัติการด้านสงครามข่าวสาร (IO) ทำงานผ่านภาคประชาสังคม ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องขอกำหนดใจตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เป็นไปเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของคนมลายู เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยศูนย์การนำอยู่ในมาเลเซียและได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลเสือเหลืองเป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่เวลาตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย จะมีอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซียทำหน้าที่อำนวยความสะดวกทุกครั้ง

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงนั่นไม่น่าจะใช่เป็นการอำนวยความสะดวก แต่เป็นการ “จัดฉาก” เพื่อให้ตัวละครภายใต้กำกับได้เข้าสู่เวทีพูดคุย นับตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องถึงสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบัน ซึ่งต้องถือเป็นการกำกับการแสดงของรัฐบาลมาเลเซียที่สมควรให้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง

การมีอยู่จริงของบีอาร์เอ็นยืนยันชัดผ่านข้อตกลงหยุดยิงในช่วงเดือนรอนฎอน แต่คล้อยหลังก็กลับเข้าสู่โหมดความรุนแรงได้อีกในเวลานี้ ซึ่งนั่นเป็นการแสดงให้หน่วยงานความมั่นคงไทยต้องยอมรับกับการเดินเข้าสู่เวทีเจรจาสันติภาพ ซึ่งเป็นไปตามประสงค์ของมาเลเซียและองค์กรต่างประเทศ

เหตุรุนแรงหลังเดือนรอมฎอนติดต่อกันตั้งแต่ถล่มสถานีตำรวจน้ำ วางบึ้มเสาไฟฟ้าที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส คาร์บอมบ์จุดตรวจจันทรักษ์ อ.ปานาเระ และวางระเบิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซุ่มยิงชุด รปภ.ครูที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา วางระเบิดขบวนรถทหารพรานที่ อ.บันนังสตา ล้วนเป็นไปเพื่อให้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” กลับมาบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นทั้งตรวจค้นและจับกุม

เพราะหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง อาจทำให้หลงคิดไปได้ว่าไฟใต้สงบแล้ว นั่นจะทำให้บีอาร์เอ็นได้เปรียบในเวทีพูดคุยสันติสุข เนื่องจากเหตุการณ์บนแผ่นดินปลายด้ามขวานสงบและสันติแล้ว ทำไมที่รัฐไทยยังต้องไปรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นอีกเล่า

การที่มีตอบโต้ทุกครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายต่อแนวร่วม แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นยังมีกองกำลังติดอาวุธอยู่ในทุกพื้นที่ และมีความพร้อมปฏิบัติการก่อวินาศกรรมเป้าหมายที่ต้องการได้ตลอดเวลา

ล่าสุด ทั้งจากการสืบสวนสอบสวน การพิสูจน์หลักฐานและผลทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันได้แล้วว่า กรณีคาร์บอมบ์จุดตรวจจันทรักษ์ มีแนวร่วมบีอาร์เอ็นในพื้นที่ร่วมเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย โดยเฉพาะอาจมีพนักงาน อบต.บางคนเกี่ยวข้องกับการปล้นรถขนขยะไปทำเป็นคาร์บอมบ์

เมื่อบีอาร์เอ็นเป็น “ผู้กำหนดเกม” ดังนั้นการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่พยายามบังคับใช้กฎหมาย โดยวาดหวังให้สอดรับการเจาจา จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นจริง

จะเห็นว่า 2 ปีกบีอาร์เอ็นปฏิบัติการไปพร้อมๆ กัน หลังปีกทหารก่อวินาศกรรม ปีกการเมืองก็รุกงานมวลชนตาม อย่างหลังรอมฎอน 3 วันมีประกาศการจัดตั้ง “วันเยาวชนปาตานี” พร้อมแสดงตัวตนและเจตนารมณ์ผ่านสื่อ รวมถึงให้ความเห็นให้กรณี “พูโล 5G” จะเข้าร่วมโต๊ะเจรจาว่าต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของบีอาร์เอ็น เป็นต้น

ล่าสุด “เจ๊ะมูดอ บินเจ๊ะเต๊ะ” แกนนำบีอาร์เอ็นเข้าร่วมวงเสวนาผ่านสำนักข่าว THE MOTIVE ในหัวข้อ “ภาพอนาคตชาวปาตานีชายแดนใต้” ได้ให้คำตอบชัดเจนว่าขบวนการต้องการอะไร แถมยังเปิดเผยถึงการมี ส.ส.เป็นปากเสียงอยู่ในสภาฯ และที่สำคัญยังตอกย้ำด้วยว่า สิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการคือ “เอกราช”

สังเกตได้ว่าขณะนี้บีอาร์เอ็นเปิดหน้าชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีสาธารณะที่จัดโดย “สื่อ” ที่จัดตั้งโดยปีกการเมือง เป็นการเปิดเกมรุกด้านมวลชนที่น่าจับตามองยิ่ง ซึ่งสอดรับกับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อรัฐบาลไทยบนโต๊ะเจรจาที่มี “มาเลเซีย” และ “องค์กรชาติตะวันตก” เป็นผู้กำกับเวที โดยมี “คนชายแดนใต้” เป็นตัวประกัน

ก็ในเมื่อที่ผ่านๆ มา การก่อวินาศกรรมในชุมชน หรือกระทั่งบนถนนสายหลัก แถมมีการอัดคลิปแสดงผลงานให้ทั้งโลกได้รับรู้ นั่นแสดงถึงศักยภาพของบีอาร์เอ็นแล้วใช่ไหมว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้จะเปิดปฏิบัติการที่ไหน หรือเมื่อไหร่อีกก็ได้

ดังนั้นต่อจากนี้ไปจึงต้องถือเป็นงานหนักมากสำหรับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่จะต้องป้องกันเขตชุมชนหรือเมืองใหญ่ๆ ไว้ให้ดี โดยเฉพาะเวลานี้หลายหัวเมืองในชายแดนใต้ต่างก็กำลังหันกลับมาฟื้นด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังโรคระบาดโควิด-19 สร่างซาลง

ส่วน “คณะพูดคุยสันติสุข” ที่ต้องทำหน้าที่เจรจากับตัวแทนบีอาร์เอ็นก็ไม่ใช่งานง่ายเช่นกัน หากพลาดพลั้งและหลงเหลี่ยมเมื่อไหร่ ประเทศไทยอาจจะมี “เขตการปกครองตนเอง” เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

เนื่องเพราะบีอาร์เอ็นมีทั้งมาเลเซียและองค์กรจากตะวันตกสนับสนุนให้ตั้งธงล่วงหน้าว่า เมื่อไม่ได้ “เอกราช” ก็ต้องเอา “เขตปกครองตนเอง” ให้ได้ ฉะนั้นจะลงนามอะไรกับทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและฝรั่งหัวแดง จึงต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน ต้องไม่ลืมว่ามีทั้ง “คนชายแดนใต้” และ “แผ่นดินปลายด้ามขวาน” เป็นเดิมพัน


กำลังโหลดความคิดเห็น