xs
xsm
sm
md
lg

อดีตครูผันตัวเป็นเกษตรกรปลูกสละอินโดสร้างรายได้ในวัยเกษียณ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สองสามีภรรยา อดีตข้าราชการครู ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว ปลูกสละอินโดร่วมสวนยางและสวนผลไม้ สร้างรายได้เสริมและมีความสุขในวัยเกษียณ 
 ที่ จ.สงขลา มีสามีภรรยาอยู่คู่หนึ่ง ชื่อว่า นายไพบูลย์ และนางรัชดา เพ็ชร์ชระ หรือครูบูลย์ และครูดา วัย 65 ปี  ซึ่งเคยรับราชการครูทั้งคู่ แต่หลังเกษียณอายุราชการก็หันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยการปลูกสละอินโดร่วมสวนยางพาราและสวนผลไม้ ที่บ้านทรายขาว หมู่ 6 ตำบลทุ่งหวัง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา

ครูบูลย์และครูดามีความใฝ่ฝันเหมือนกันที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขด้วยการทำการเกษตร โดยก่อนเกษียณอายุราชการ 2 ปี เริ่มหันมาทำสวนเกษตรผสมผสานเพื่อเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตหลังเกษียณราชการ โดยการปลูกสละอินโดและสละพันธุ์สุมาลี 200 ต้น เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว ไม่มีปัญหาศัตรูพืชรบกวน และปลูกร่วมกับสวนยางพาราและสวนผลไม้เดิมที่มีอยู่แล้ว


หลังเกษียณอายุราชการ สละอินโดที่ปลูกไว้ 200 ต้น ก็เริ่มให้ผลผลิตพอดีทั้งเก็บกินเก็บขายได้เลย และทยอยปลูกเพิ่มเรื่อยมาปัจจุบันมีสละอินโดประมาณ 450 ต้นให้ผลผลิตแล้วกว่า 200 ต้น ส่วนสละพันธุ์สุมาลีเริ่มทยอยให้ผลผลิตแล้ว 70 ต้น

จากนั้นคอยติดแต่งกิ่งสม่ำเพื่อไม่ให้มีใบมากเกินไป เป็นการลดการใช้อาหารและช่วยให้ผลและทะลายไม่เบียดกัน ผลจะโตและต้องช่วยผสมเกสร เนื่องจากสละอินโดเป็นพืชที่มีดอกแยกเพศ คือเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่คนละต้นกัน การติดผลตามธรรมชาติต้องอาศัยแมลง การช่วยผสมเกสรจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้ผลผลิตสูง โดยตัดช่อดอกเกสรตัวผู้นำไปเคาะละอองเกสรเพศผู้หรือวางช่อดอกเกสรตัวผู้บนช่อดอกเกสรตัวเมียของต้นเพศเมีย หลังผสมเกสรประมาณ 8 เดือนเก็บผลผลิตได้ นอกจากนี้ภายในสวนก็เริ่มนำชันโรงมาเลี้ยงเพื่อช่วยผสมเกสรของสละอีกด้วย


สำหรับวิธีการเก็บเกี่ยวสละอินโดในสวนนั้น จะต้องชิมผลทุกช่อก่อนตัด หากยังมีรสฝาด จะไม่ตัดเด็ดขาด จะต้องมีรสชาติ หวาน กรอบเท่านั้น จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้า ซึ่งผลสละอินโดนั้นเมื่อสุกเต็มที่มีรสชาติ หวาน หอม กรอบ อร่อย

หลังเก็บเกี่ยวแล้วนำมาทำความสะอาดด้วยการใช้แปรงเล็กๆ เขี่ยดินหรือสิ่งสกปรกออกจะไม่นำไปล้างด้วยน้ำ เพราะการล้างด้วยน้ำอาจทำให้ผลเน่าเสียได้ง่าย โดยจะเก็บผลผลิตสละอินโดได้ทุกๆ15 วัน จะได้ผลผลผลิตเดือนละประมาณ 80-100 กิโลกรัม มีแม่ค้ามารับถึงสวนในราคากิโลกรัมละ 50 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า สร้างรายได้ให้ครอบครัวไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท/เดือน ส่วนสละพันธุ์สุมาลีเริ่มให้ผลผลิตแล้วเช่นกัน

ครูบูล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ราคาปุ๋ยเคมีในช่วงนี้ราคาสูง แต่ก็ไม่กระทบมากนัก เนื่องจากใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และน้ำหมักผักผลไม้ที่ผลิตขึ้นมาเอง จะใช้ปุ๋ยเคมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สละอินโดนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจและสร้างรายได้เป็นอย่างดี หลังเกษียณมากว่า 5 ปีได้ใช้ชีวิตในสวนเกษตรตามความใฝ่ฝันแถมมีเงินเข้ากระเป๋าทุกเดือน สร้างความสุขให้แก่ตนเองและครอบครัวในช่วงชีวิตเกษียณเป็นอย่างดี สนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร 095-9686738




กำลังโหลดความคิดเห็น