xs
xsm
sm
md
lg

25 มิ.ย.นี้ตั้งจอโชว์ภาพ “เขตโบราณสถานเมืองเก่า” ถูกบุกรุกอย่างไร ณ ถนนคนเดินสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสงขลา ผู้รักษ์มรดกชาติ และความเป็นธรรมต้องไม่พลาด เวที “เรียนรู้มรดกเรา..สู่มรดกโลก” บอกเล่าเรื่องราว และตั้งจอโปรเจกเตอร์ฉายภาพ “เขตโบราณสถานเมืองเก่า” ที่ถูกกลุ่มอิทธิพลบุกรุกให้ชมกันชัดๆ ณ ถนนคนเดินสงขลา 25 มิ.ย.นี้

นายชาญชูชัย เปียทนงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องและขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก เปิดเผยว่า เครือข่ายร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา อยากเชิญชวนชาวสงขลา ประชาชนผู้รักษ์มรดกชาติ และความเป็นธรรม เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถานเมืองเก่าสงขลา พร้อมหนุนช่วยผลักดันการขึ้นทะเบียนเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก ภายใต้กรอบความคิด “เรียนรู้มรดกเรา..สู่มรดกโลก” โดยจะจัดขึ้น วันเสาร์ 25 มิ.ย.2565 ช่วงเวลา 16.30-21.30 น. ณ ลานกิจกรรมถนนคนเดิน สงขลา ซึ่งถือเป็นการจัดเวทีประจำเดือนเป็นครั้งที่ 4 ภายหลังเกิดคดีและกลายเป็นข่าวครึกโครมระลอกใหม่ กรณีกลุ่มอิทธิพลบุกรุกโบราณสถานบริเวณเข้าน้อย และเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

“ไฮไลต์ของเวทีที่กำลังจะมีขึ้นจะมีการฉายภาพบนจอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ให้ชมกันอย่างชัดๆ เพื่อบอกเล่าที่มาโบราณสถานเมืองเก่าบริเวณเขาแดง และเขาน้อย องค์พระเจดีย์ที่มีอายุกว่า 1,400 ปี เจดีย์องค์ขาว-เจดีย์องดำ ป้อมปราการ และกำแพงเมืองต่างๆ มีความสำคัญอย่างไร แล้วเวลานี้ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลบุกรุกทำลายไปอย่างไรบ้าง รับรองว่าใครได้เห็นเป็นต้องตะลึงงันไปตามๆ กันอย่างแน่นอน ไม่เชื่อต้องไปพิสูจน์กัน” นายชาญชูชัย กล่าวและว่า

เรื่องราวเหล่านี้จะถูกบอกเล่าในช่วง “มรดกเรา” โดย อ.เจริญพงศ์ พรหมศร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเจ้าของผลงานเขียนเรื่อง ซิงกอร่า : สิงหนคร เรื่องราวชุมชนในขุนเขา บนเมือง แหลมสน หัวเขา สทิงหม้อ ซึ่งได้เตรียมภาพถ่ายไว้ให้ชมกว่า 100 ภาพ ตามด้วยช่วง “สู่มรดกโลก” บอกเล่าโดย ดร.จเร สุวรรณชาต นักวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ภาคใต้ จะมาบอกเล่าว่าประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไรในการผลักดันนำโบราณสถานเมืองเก่าฝั่ง อ.สิงหนคร ผนวกกับเมืองเก่าฝั่ง อ.เมืองสงขลา รวมถึงย่านเมืองเก่าที่กำลังเป็นจุดขายการท่องเที่ยวของสงขลาไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้เป็นผลได้อย่างไร


เจ้าของฉายาโกโต้ง โจ๊กเตาถ่าน ผู้เป็นเจ้าของร้านขายโจ๊กกระดูกหมูอ่อนชื่อดังในเมืองสงขลา กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดคลิปสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ จะมีให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานเมืองเก่าสงขลา กิจกรรมบนเวทีอื่นๆ ได้แก่ นายนพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผอ.สำนักศิลปากรที่ 11 บอกเล่าความคืบหน้าการฟื้นฟูโบราณสถาน นายบรรจง นะแส บอกเล่าความคืบหน้าทางคดี ข้อคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ ได้แก่ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ แกนนำนักศึกษาจาก ม.อ.ปัตตานี “มอส” ตัวแทนสภาเด็กสงขลา ตัวแทนชุมชนเมืองเก่าสงขลา อ่านบทกวีโดย “น้องเขียดนา” ละครสั้นจากคณะศิลปศาสตร์ ม.ทักษิณ ขลุ่ยและแซกโดย อ.ป๋อง ม.ราชภัฏสงขลา ดนตรีโดย วงหมัด ทรายเล วงจำปูนส์ แสงธรรมดา และวงภูเล เป็นต้น

สำหรับเวทีในลักษณะเดียวกันนี้เครือข่ายร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ร่วมกันจัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งแรกวันที่ 27 มี.ค.2565 จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปกป้องหัวเขาแดง SAVE ซิงกอรา” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ครั้งที่ 2 วันที่ 29 เม.ย.2565 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ฟังเสียงบาดแผลของแผ่นดิน” ณ ลานกิจกรรมถนนคนเดินสงขลา และครั้งที่ 3 วันที่ 22 พ.ค.2565 มีเจ้าภาพเพิ่มคือ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ภายใต้คอนเซ็ปต์ “SINGORA เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยภาคประชาชน” ณ ลานข้างอาคารฟุเจา ย่านเมืองเก่าสงขลา










กำลังโหลดความคิดเห็น