xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.เผยผลวิจัย ‘แมว’ แพร่โควิดสู่ ‘คน’ รายแรกของโลก ขออย่าทิ้งสัตว์เลี้ยงแต่ให้ระวังมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) หาดใหญ่ เผยงานวิจัยพบแมวแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คนเป็นรายแรกของโลก เพราะแมวจามใส่ เหตุเกิดเดือน ส.ค.64 แพทย์ยืนยันมีความเสี่ยงติดเชื้อต่ำ ขออย่านำสัตว์เลี้ยงไปทิ้ง แต่ให้มีการเฝ้าระวังมากกว่า

วันนี้ (20 มิ.ย.) รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) แถลงถึงกรณี “นิวยอร์ก ไทมส์” สื่อชื่อดังของสหรัฐอเมริกา อ้างรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย พบคนติดเชื้อโควิดจาก “แมว” เมื่อปีที่แล้ว

โดยรายงานอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 ผ่านวารสารโรคติดต่อ “อิเมอร์จิง อินเฟ็คเชียส ดีซีส” Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ หรือซีดีซี โดยมีการระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเป็นการติดจาก “แมวสู่คน”

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวว่า การแพร่กระจายเชื้อจากแมวไปสู่คน เหตุการณ์เกิดเดือนสิงหาคม วันที่ 4 ส.ค.64 แมวอายุ 10 ปี อยู่กับเจ้าของ 2 คน ใน กทม. เมื่อติดเชื้อโควิด ซึ่งในขณะนั้นใน กทม. มีเตียงรักษาจำกัด จึงวางแผนมารักษาตัวกับญาติที่ จ.สงขลา

โดยผู้ป่วยทั้ง 2 คน นั่งรถส่วนตัวมาจาก กทม. พร้อมแมว เมื่อ 8 ส.ค.64 รักษาในหอผู้ป่วยโควิดของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และสัตวแพทย์เกรงว่าแมวจะติดเชื้อ ในวันที่ 10 ส.ค.64 หลังผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 วัน สัตวแพทย์จึงตรวจแมวด้วยการแยงรูจมูก และรูทวาร และผลยืนยันติดเชื้อโควิด แต่ตอนที่เก็บสิ่งส่งตรวจ แมวจามออกมา ซึ่งขณะนั้นสัตวแพทย์ซึ่งใส่แมสก์พร้อมซีลแมสแน่นหนา แต่ไม่ได้ใส่เฟซชิลด์ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ป่วย

จากนั้น 3 วัน เมื่อ 13 ส.ค.64 สัตวแพทย์เริ่มมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก อีก 2 วันจึงเข้ารับการตรวจ และพบว่าติดเชื้อโควิด และได้เข้ารับการรักษา ส่วนแมวไม่ได้มีอาการน้ำมูก ไอ กินอาหารได้ปกติ จึงรักษาที่หอผู้ป่วยโควิดร่วมกับหอผู้ป่วยโควิด เจ้าหน้าที่ที่ดูแลแต่งกายมิดชิด ในส่วนของผู้ช่วยสัตวแพทย์ 2 คนนั้น จากการตรวจ 2 ครั้ง ไม่พบว่าติดเชื้อ

“แสดงให้เห็นว่าโอกาสการติดเชื้อจากแมวต่ำ หากไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ในวันที่ 22 ส.ค.64 ผู้ป่วยและสัตวแพทย์รักษาตัวครบ 7 วัน ออกจากโรงพยาบาล จากการติดตามอาการระยะหนึ่งพบว่าไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีอาการแทรกซ้อน และแมวเป็นปกติ แข็งแรงดี” รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าว

ทั้งนี้ พบว่าเชื้อโควิดที่ติดในแมวขณะนั้นเป็นสายพันธุ์เดลตา โดยการตรวจลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อโควิดที่พบในเจ้าของแมว และสัตวแพทย์ พบว่าเป็นชนิดเดียวกัน และจากการตรวจเปรียบเทียบกับตัวอย่างเชื้อที่มีอยู่ในชุมชนไม่พบว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าเชื้อชนิดนี้ไม่ได้มีการระบาดในชุมชน แต่เป็นการระบาดเฉพาะคนสู่แมว และจากแมวสู่คน

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวว่า แม้จะพบว่ามีความเสี่ยงต่ำในการระบาดจากแมวสู่คน จากคนสู่แมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วย ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง

“โอกาสการแพร่เชื้อจากแมวสู่คนนั้นมีความเสี่ยงต่ำ โดยจากการศึกษานั้นพบว่ากรณีแมวติดเชื้อนั้นไม่พบว่ามีอาการจาม ไอ มีน้ำมูก จึงมีความเสี่ยงต่ำ และมีการตรวจพบที่รูทวารหนัก จึงแสดงได้ว่าเชื้อจะออกมาทางอุจจาระ ซึ่งปกติคนเลี้ยงไม่ได้ไปสัมผัสกับอุจจาระของสัตว์เลี้ยง แต่แนะนำให้มีการทำความสะอาด ทั้งล้างมือด้วยสบู่ และแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยืนยันชัดว่า มีความเสี่ยงต่ำในการที่แมวจะแพร่เชื้อสู่คน ดังนั้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์อยู่ก็อย่าได้นำสัตว์เลี้ยงไปทิ้ง แต่ขอให้มีการเฝ้าระวัง” รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น