นครศรีธรรมราช - ชวนเที่ยวย้อนยุคงานวัดเก่าแก่ที่วัดจันทาราม แหล่งบ่มเพาะช่างศิลป์สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ในชื่องาน “เหวนวัดจัน” ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2565
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่วัดจันทาราม ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนท่าวัง-ท่ามอญ ย่านเศรษฐกิจที่สำคัญและเก่าแก่ของตัวเมืองนครศรีธรรมราช มานับร้อยปี ได้มีการจัดงานวัดใช้ชื่องานว่า “เหวนวัดจัน” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่มีความหมายว่า เที่ยวตระเวน หรือตรงกับภาษาใต้ที่เรียกว่า “เหวน” งานถูกจัดขึ้นเพียง 3 วัน ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2565 ท่ามกลางบรรยากาศของกุฏิเก่าแก่โบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ถูกบูรณะรักษาไว้อย่างงดงามในแบบดั้งเดิมตามแบบสถาปัตยกรรมภาคใต้
สำหรับผู้ที่พยายามสร้างสวรรค์และฟื้นฟูวัดจันทาราม ให้กลับมามีบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแบบดั้งเดิมคือ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และคณะทำงาน และคณะสงฆ์ สายเลือดชาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่ร่วมกันศึกษาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวนครศรีธรรมราช ได้ริเริ่มหลังจากวัดแห่งนี้ถูกหลงลืมไปหลายสิบปี หรืออาจจะถึง 100 ปี
แต่เดิมวัดจันทาราม หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วัดจัน” คหบดี ชาวบ้านที่มีบุตรหลานเมื่อส่งมาเรียนในโรงเรียนตัวเมืองนครศรีฯ และสนใจในเชิงช่าง เช่น ช่างไม้ ช่างโลหะวิจิตรศิลป์ จะนิยมส่งบุตรหลานมาอยู่วัด ขัดเกลาบ่มเพาะและศึกษาวิชาช่างที่นี่ด้วย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เปิดเผยว่า จริงๆ แล้ววัดทุกวัดทั่วประเทศไทยเป็นขุมรวมของผู้คน และเป็นที่รวมของศิลปะต่างๆ เช่น ที่วัดจันทาราม เป็นขุมรวมของพระลาก งานศิลปะต่างๆ ซึ่งหากช่วยกันรักษาช่วยกันฟื้นฟูวัดให้เป็นศูนย์รวมของชุมชนทำให้การรักษาความงดงามล้ำค่าของวัดและศิลปะภายในวัดยิ่งยืนยาวออกไป
ในงาน “เหวนวัดจัน” นอกจากจะมีบรรยากาศเก่าๆ ราวกับย้อนไปในกาลก่อน ยังมีนิทรรศการช่างศิลป์ถิ่นนคร นำเอางานศิลป์เมืองนคร เช่น เครื่องเงิน หรือเครื่องโลหะต่างๆ มาจัดแสดง นอกจากนั้น ยังมีงานสร้างที่ทรงคุณค่า เช่น พระลากที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับสตรีที่เป็นบุคคลที่เคารพนับถือ มีวัตรปฏิบัติในการเกื้อหนุนทำนุบำรุงพุทธศาสนา มาเป็นพระลากคือพระปางยืนอุ้มบาตรในชื่อต่างๆ ที่มีการรังสรรค์เงิน ทองคำ มาหุ้มองค์พระอย่างสวยงามประณีต และยังเป็นคดีความเชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปปางยืนอุ้มบาตร หรือที่เรียกว่าพระลากตามภาษาถิ่นนั้นจะหมายถึงการมุ่งสู่การหลุดพ้นและไปถึงในยุคพระศรีอาริยเมตไตรในกาลเบื้องหน้านั่นเอง