xs
xsm
sm
md
lg

คุณตาวัย 70 ปีร้อง รมว.ทส. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินไม่ได้ เหตุถูกห้ามนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - คุณตาวัย 70 ปีร้อง รมว.ทส. เข้าทำประโยชน์ที่ดินกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เหตุอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ห้ามผ่านทางเพราะมีพื้นที่ติดกัน แม้ศาลปกครองพิพากษาแล้วเป็นที่ดินโดยชอบ ให้เปิดทางเข้าเป็นทางสาธารณะ ฝ่าย จนท.แจงผิดระเบียบของอุทยานฯ ที่ห้ามนำเครื่องจักรกลเข้าพื้นที่ป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายชาญวิทย์ ธนาสุวเศรษฐ์ (ชื่อเดิม นายชาญ ศิริศุภนนท์) อายุ 70 ปี ชาวบ้าน ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง นำเอกสารคำพิพากษาศาลเกี่ยวกับที่ดิน เนื้อที่ 57 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ม.6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และคำพิพากษาศาลปกครอง คุ้มครองการใช้ถนนสาธารณะ ตั้งแต่ทางแยกสายบางสัก-หาดยาว แยกขวาเข้าไปยังหาดหยงหลิง-หาดสั้น ความยาว 2.4 กิโลเมตร และมีทางแยกไปถึงที่ดินของ นายชาญวิทย์ ระยะ 1.5 กิโลเมตร

โดยหอบเอกสารเข้าร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน พร้อมทำหนังสือถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อนุญาตให้ตนและคนงาน นำรถจักรกลการเกษตรเข้าไปในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินเนื้อที่ 57 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ช่วงหาดหยงหลิง นั้นไม่มีเนื้อที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยาน และพื้นที่ป่าไม้ ตามที่ฝ่ายอุทยานฯ เคยเข้าจับกุม นายชาญวิทย์ ส่งดำเนินคดี และต้องทำให้ตัวเองติดคุกนานถึง 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลในอดีต


นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนครอบครองที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่ปี 2533 หรือเมื่อ 32 ปีแล้ว เป็นการซื้อต่อจากญาติที่แบ่งขายให้ตน และตนเข้าไปทำประโยชน์ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ดำเนินคดีกับตน และตนได้ต่อสู้คดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยต่อสู้คดีที่ศาลจังหวัดตรังมาตั้งแต่ปี 2547-2550 ตามคดีหมายเลขดำ ที่ 2496/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 2206/2547 และในศาลอุทธรณ์ ภาค 9 เมื่อปี 2550 ตามคดีหมายเลขดำที่ 2044/2547 และคดีหมายเลขแดงที่ 855/2550 ในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวน ความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าไม้

โดยศาลพิพากษาว่า “แม้ผู้ครอบครองที่ดินจะมิได้แจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 ก็ตาม ผู้ครอบครองที่ดินก็ไม่เสียสิทธิการครอบครองที่ดินที่มีอยู่ก่อนดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายดังกล่าวประสงค์ให้รัฐได้ทราบว่ามีผู้ใดเป็นผู้ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนแล้วบ้างเท่านั้น ดังนั้นตนรับซื้อที่ดินพิพาทมา ย่อมได้ทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ขายเป็นลำดับชั้นไป ที่ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 นั้น ไม่ต้องด้วย ความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นด้วยในเหตุผลอุทธรณ์ของตนว่าตนไม่ผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ ไม่ผิด พ.ร.บ.อุทยาน และไม่ผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ


นายชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า หลังจากชนะคดี ตนได้ฟ้องแพ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องทางสาธารณะเพื่อเข้าทำประโยชน์ที่ดิน บนถนนสายบางสัก-หาดยาว แยกขวาเข้าไปยังหาดหยงหลิง-หาดสั้น ความยาว 2.4 กิโลเมตร และมีทางแยกซึ่งเป็นทางสาธารณะ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ไปจนถึงบ้านตาเป๊ะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินที่ตนทำประโยชน์อยู่ โดยถนนมีความกว้าง 7 เมตร ตลอดทั้งสาย

ต่อมาปี 2556 สมัยที่ นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินคดีกับตน ในข้อหารุกพื้นที่ป่าถาวร จำนวน 8 ไร่ และ ป่าธรรมดา จำนวน 10 ไร่ ปรากฏว่าการต่อสู้ครั้งนี้ตนแพ้คดีและติดคุกเป็นเวลา 1 ปี (ก.ย.60-ก.ย.61) และเมื่อตนพ้นโทษ ตนได้ยื่นขอรื้อฟื้นคดีอยู่ขณะนี้ ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้ตัวเอง โดยระหว่างที่ต่อสู้คดีระหว่างปี 2556-2560 ได้มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ระบุว่าทางซึ่งไปถึงที่ดินของตนนั้นเป็นทางสาธารณะ และศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาให้อุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้ตนอีกด้วย

“แต่ตั้งปี 2531 ที่ผมพ้นโทษ ผมพยายามเข้าไปทำประโยชน์ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกว่า ที่ดินไม่มีเอกสาร อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมไม่สามารถอนุญาตให้ผมนำรถจักรกลการเกษตรเข้าไปในที่ดินของตัวเองได้ ทั้งที่คำสั่งศาลปกครองระบุไว้ชัดเจนแล้ว” นายชาญวิทย์ ระบุ


นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ต่อมา ปี 2562 ตนได้ไปยื่นขอเอกสารสิทธิที่ดินเนื้อที่ 57 ไร่นี้ ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง สาขากันตัง โดยอาศัยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 9 แต่สำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง สาขากันตัง ให้เหตุผลว่า ที่ดินของตนไม่ได้ทำประโยชน์ตามสภาพของท้องถิ่น และไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง 43 ข้อ 14 ตนจึงส่งเรื่องขอออกโฉนดไปยังศาลปกครองสงขลา โดยหลังคำพิพากษาเรื่องที่ดินสิ้นสุดลงเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ตนได้พยายามนำเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรเข้าไปในที่ดิน แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ยังขัดขวาง ห้ามไม่ให้เข้า หากเข้าไปจะดำเนินการจับกุม จนคนงานและคนขับรถไม่กล้านำรถเข้าไป

ปีนี้ผมได้จัดรถเข้าไปเพื่อดำเนินการทำประโยชน์อีกแต่ก็ยังถูกห้าม ทั้งที่การนำเครื่องจักรกลของผมเข้าไปนั้นเป็นการขับขี่บนเส้นทางสาธารณะ ไม่ได้เข้าไปในที่ดินของอุทยาน ทั้งนี้หากเทียบกับตอนนี้จะเห็นได้ว่าในพื้นที่อุทยานฯ เองมีการนำรถจักรกลเข้าไปปรับพื้นที่บริเวณอุทยานฯ บริเวณหน้าหาดหยงหลิง ซึ่งเป็นการใช้ถนนสาธารณะเช่นเดียวกับที่ผมจะนำรถจักรกลเข้าไปในที่ดินที่ตนครอบครองอยู่ ผมจึงติดใจว่าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายหรือมาตรฐานใดมาตัดสิน เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

“อยากเรียนไปถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น นายวราวุธ ศิลปอาชา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผม อยากให้ทางผู้ใหญ่ให้ความกระจ่างชัดว่า เหตุผลใดที่สั่งห้าม และให้ชี้แจงเป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งตอนนี้คำพิพากษาศาลสิ้นสุดแล้ว ว่าผมไม่มีความผิด แต่ยังโดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ” นายชาญวิทย์ กล่าว


นายชาญวิทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับที่ดินแปลงนี้ตนได้เข้าทำไปทำประโยชน์ เช่นเมื่อปี 2536 ได้ปลูกมะพร้าวจนเต็มพื้นที่ แต่ไฟไหม้ทำให้ต้นมะพร้าวเสียหายและตาย ต่อมาปี 2544 ได้ปลูกปาล์มน้ำมัน แต่ด้วยความที่ตนต้องขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่ได้ดูแลสวนปาล์ม และกล้าต้นปาล์มน้ำมันโดนหนูกัดกินโคนต้น จนเป็นเหตุให้ต้นปาล์มน้ำมันตายยกแปลง ในขณะที่ที่ดินแปลงข้างเคียงติดกับของตน เป็นของในเครือญาติ มีการทำประโยชน์ด้วยการปลูกมะพร้าว ปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกต้นไผ่ และมีการสร้างบ้านพักอาศัย รวมทั้งโรงเรือน ซึ่งที่ดินที่จุดที่ตนยืนอยู่นั้นก็ซื้อมาจากญาติเช่นกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา นายชาญวิทย์ ได้พยายามนำรถจักรกลการเกษตรเข้าไปปรับพื้นที่ในที่ดินกรรมสิทธิ์อีกครั้ง แต่เมื่อถึงด่านอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานสั่งห้าม โดยมี นายชุติพงศ์ พลวัฒน์ รองหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยาน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เข้าเจรจาและห้าม นายชาญวิทย์ นำรถจักรกลเข้าไป


นายชุติพงศ์ พลวัฒน์ รองหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า ตนทราบเกี่ยวกับเรื่องฟ้องร้องการต่อสู้ในคดีในชั้นศาลระหว่าง นายชาญวิทย์ เกี่ยวกับถนนสาธารณะที่ผ่านอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งอุทยานได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล คือ ห้ามมีไม้กั้น สามารถสัญจรได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ นายชาญวิทย์ ได้นำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามานั้น เป็นข้อห้ามและผิดระเบียบของอุทยานฯ ที่นำเครื่องจักรกลเข้าไปในพื้นที่ และเพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และด้วยอำนาจหน้าที่ภารกิจของผู้พิทักษ์ป่า ในการดูแลรักษาทรัพยากร แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ด้านใน อาจจะไม่ใช่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แต่ด้วยภารกิจไม่สามารถให้เข้าไปได้

ส่วนการที่ นายชาญวิทย์ ได้แจ้งมาแล้วว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินเอกสาร ส.ค.3 เพื่อจะขอแจ้งสิทธิออก ส.ค.1 ในส่วนของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมจะร่วมกับกรมป่าไม้ เข้าไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบและนำค่าพิกัดไปขึ้นรูปแปลงว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตระยะกั้น ไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ หรือไม่ได้อยู่ในเขตป่าชายเลน โดยขั้นตอนต่างๆ จะเร่งดำเนินการผ่านสำนักงานสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ก่อนจะนำเรื่องถึงกรมอุทยานฯ เพื่อหาข้อสรุปและชี้แจงต่อสื่อมวลชนและประชาชนที่ติดตามข่าวสาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำพิพากษาของศาลปกครองมีผลต่อภารกิจการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่ นายชุติพงศ์ ตอบว่า ผมมองด้วยจิตวิญญาณและจิตใต้สำนึกของเจ้าหน้าที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ถือว่าไม่มีผล แต่มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เนื่องจากสภาพจิตใจ เพราะทุกคนทำงานเหน็ดเหนื่อย ต้องออกพื้นที่ทางทะเลและป่า แต่ด้วยภารกิจต่างๆ ที่เจอทำให้มีการท้อบ้าง แต่ทุกคนยังสู้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น