ตรัง - ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ร่วมจับมือลำละ 3 คน หารค่าน้ำมันกัน เพื่อออกวางอวนจับปูในช่วงเวลาทอง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ครั้งละ 2,000-20,000 บาท
วันนี้ (7 มิ.ย.) ช่วงฤดูมรสุมแห่งท้องทะเลอันดามัน โดยที่จังหวัดตรัง ชาวประมงพื้นบ้านนับพันครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง รวมทั้งตามเกาะต่างๆ ทั้ง 5 อำเภอ ประกอบด้วย สิเกา กันตัง ย่านตาขาว ปะเหลียน และหาดสำราญ ขณะนี้ในภาคเช้าพบว่า ในทะเลจะคึกคักไปด้วยเรือประมงพื้นบ้านที่วิ่งนำปูที่ออกไปวางอวนได้กลับเข้าฝั่ง ส่วนภาคบ่ายจะคึกคักไปด้วยเรือประมงอีกรอบ ที่ออกจากฝั่งเพื่อออกไปวางอวนจับปูในทะเลอีกครั้ง
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่บางครั้งแม้คลื่นจะสูงบ้าง แต่หลายคนยอมเสี่ยงนำเรือออกจากฝั่งเพื่อไปวางอวนจับปู เพราะหน้ามรสุมเป็นช่วงเวลาทองของชาวประมงที่จะมีปูม้าเป็นจำนวนมาก ประกอบกับที่ผ่านมาน้ำมันราคาแพง เรือประมงชายฝั่งจำนวนมากไม่ได้ออกไปจับสัตว์น้ำ เนื่องจากไม่คุ้มกับค่าน้ำมันที่แพง จึงเลือกที่จะจอด ทำให้ขาดรายได้ แต่หน้ามรสุมถือเป็นฤดูกาลของการจับปูม้า ชาวประมงชายฝั่งทั้งหมดจึงยอมเสี่ยงคลื่นลมและน้ำมันแพง ออกไปจับปูม้ากันอย่างคึกคัก
โดยที่บ้านหาดยาว หมู่ที่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง พบว่า บริเวณ 2 ท่าเรือภายในหมู่บ้าน รวมทั้งแนวชายฝั่งหน้าหมู่บ้านที่สามารถจอดเรือได้ ต่างคึกคักไปด้วยเรือประมงชายฝั่งที่ออกไปจับปู ทั้งนี้ จากการสอบถามทำให้ทราบว่า ขณะนี้ประมงชายฝั่งต้องปรับตัวขนานใหญ่ในยุคน้ำมันแพง เพราะขณะนี้น้ำมันบริเวณชายฝั่ง ซึ่งอยู่ห่างจากปั๊มน้ำมันไปหลายกิโลเมตร หรือบางพื้นที่ต้องเติมบนเกาะนั้น พบว่า น้ำมันดีเซลตกประมาณลิตรละ 40-50 บาท ทำให้ชาวประมงชายฝั่งประมาณ 3 ราย ต้องใช้วิธีการหารค่าน้ำมันเรือหางยาว ที่ต้องใช้ลำละประมาณ 30-40 ลิตร เพื่อออกไปวางอวนจับปูด้วยกัน จึงทำให้พอที่จะสามารถสู้ราคาน้ำมันแพง และยอมฝ่าคลื่นลมออกไปวางอวนจับปู จนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงนี้
ด้าน นายเสน่ห์ นิลใจถัล อายุ 46 ปี ชาวประมงพื้นบ้านบ้านหาดยาว กล่าวว่า หน้ามรสุมของทะเลอันดามัน เป็นช่วงเวลาทองของการออกวางอวนจับปู แต่น้ำมันราคาแพงจึงต้องจับมือกับเพื่อนๆ รวมจำนวน 3 คน เติมน้ำมันประมาณ 40 ลิตร ออกไปวางอวนจับปู แต่คลื่นลมมีกำลังแรงมาก ต้องอาศัยจังหวะที่คิดว่าปลอดภัยฝ่าคลื่นลมออกไปวาง 1 คืน แล้วกลับเข้าฝั่ง ก่อนออกไปเก็บอวนพร้อมเพื่อนในทีมอีกครั้งในวันรุ่งเช้า ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ปูจำนวนมาก ทำให้แต่ละครั้งมีรายได้ครั้งละ 2,000-3,000 บาท
นอกจากนั้น บรรยากาศภายในหมู่บ้าน ตลอดจนถึงท่าเรือซอยผู้ใหญ่บ้านเก่า พบว่า หนาแน่นไปด้วยครอบครัวชาวประมง ทั้งภรรยา เด็ก และผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มาช่วยกันปลดปูออกจากอวนที่พ่อบ้านออกไปจับมาได้ ซึ่งก็เหมือนกันคือทุกครัวเรือนจับมือกัน 3 ราย ในการออกเรือ 1 ลำ ออกไปวางอวนปูเพื่อประหยัดน้ำมัน โดยบางรายปลดปูแล้วได้มากถึง 2-3 เข่ง ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยชาวบ้านบางรายบอกว่า บางลำได้รวมกันประมาณ 10,000-20,000 บาท ซึ่งถือเป็นเวลาทองของชาวเรือประมงชายฝั่งในขณะนี้
ด้านชาวบ้านที่เดินทางไปซื้อปู ปลา บอกว่า มาซื้อที่ชาวประมงจะได้ราคาถูกกว่าไปซื้อในตลาดและได้ของสดด้วย ขณะเดียวกัน ในช่วงที่เกิดน้ำใหญ่ หรือมีมรสุม และหลังน้ำเริ่มลดลง นับจากบริเวณชายหาดบ้านหาดยาว-หาดหยงหลิง ระยะทางประมาณ 5 กม. จะมีหอยชักตีน รวมทั้งหอยเจดีย์ หรือหอยหลักไก่จำนวนมากถูกคลื่นซัดเข้าหาชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากที่ทราบข่าวเดินทางไปงมหาหอยด้วยมือเปล่า หรืออุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในครัวเรือน เช่น ถุงพลาสติก ถุงอวน ถังน้ำ ตะกร้า บุ้งกี๋ ทั้งวิธีช้อนตักกับอุปกรณ์ และงมด้วยมือเปล่า ก่อนนำมาแยกเอาเศษขยะต่างๆ ออก แล้วนำไปขาย หรือนำไปประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว โดยราคาขายหอยเจดีย์ กิโลกรัมละ 40 บาท หอยชักตีนตัวผู้ ราคากิโลกรัมละ 40 บาท หอยชักตีนตัวเมีย ราคา 120-150 บาท
ทั้งนี้ หอยชักตีน และหอยเจดีย์ หรือหอยหลักไก่ จะมีชุกชุมในบริเวณทะเลอันดามัน รวมทั้งจังหวัดตรัง ซึ่งจะเป็นหอยที่ตัวใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติหวาน และสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งนึ่งจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูด แกง และผัด ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานของชาวบ้านและร้านอาหาร จะหาได้เฉพาะที่เป็นช่วงฤดูกาลมรสุมที่มีคลื่นสูงเท่านั้น นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยแต่ละปีจะเกิดมรสุมและคลื่นใหญ่ไม่เกิน 3 ครั้งๆ ละประมาณ 3-5 วัน หรือไม่แน่นอน ซึ่งพอน้ำทะเลลดต่ำลงจากแนวชายหาด ชาวบ้านจะออกมาเก็บหอย โดยบางรายได้เป็นกระสอบ นำไปขายเป็นรายได้เสริม และรับประทานในครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงค่าครองชีพแพง