xs
xsm
sm
md
lg

ชุมพรเมืองหลวงผลไม้ภาคใต้ ทุเรียนหมอนทองสร้างรายได้ปีละกว่า 42,000 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - ชุมพรเมืองหลวงผลไม้ภาคใต้ ทุเรียนหมอนทองสร้างรายได้ปีละกว่า 42,000 ล้านบาท ผู้ว่าฯ จัดใหญ่งานเทศกาล "ผลไม้คุณภาพดี ทุเรียนเด่น เมืองชุมพร"


จังหวัดชุมพรขึ้นชื่อเป็น “เมืองหลวงของผลไม้ภาคใต้” มีทั้งทุเรียน เงาะ มุงคุด และช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ราชาแห่งผลไม้ มีพื้นที่ปลูกและผลผลิตเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ในปี พ.ศ.2564 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 246,580 ไร่ มีผลผลิตรวม 343,900 ตัน และคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ ทุเรียนหมอนทองของ จ.ชุมพร จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่า 200,000 ตัน สร้างรายได้ให้จังหวัดนับหมื่นล้านบาท


นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ด้วยจังหวัดชุมพรมีทุเรียนหมอนทอง เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมีมูลค่าสูงถึง 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78 ในปี 2564 จังหวัดชุมพรจึงได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกผลไม้จังหวัดชุมพร จัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้คุณภาพดีให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย


นายโชตินรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้ออกประกาศให้มีวันเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองประจำปี 2565 ไว้ให้เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หากพบว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดฝ่าฝืนเก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนด จะมีมาตรการจัดการผู้ฝ่าฝืนตามข้อกำหนดจดแจ้งอย่างเด็ดขาด และที่ผ่านมาได้มีพิธี “ตัดทุเรียนหมอนทองลูกแรกของจังหวัดชุมพร” ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 65 ที่สวนทวีทรัพย์ ในพื้นที่ อ.ปะทิว รวมทั้งมีการสาธิตการตรวจคุณภาพของทุเรียนหมอนทองที่มีอายุเหมาะสมแก่จัดมีคุณภาพ 

ได้แก่ 1.การตรวจดูรูปลักษณ์ภายนอก จะมีลักษณะขั้วแข็งเป็นเนื้อไม้ปลายหนามแห้งบีบยุบเข้าหากันได้เมื่อใกล้สุก ร่องหนามมีรอยประสานสีน้ำตาล เนื้อหนาเนียน ละเอียด สีเหลืองอ่อน กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน 2.สาธิตการเคาะฟังเสียง ที่สามารถบอกระดับความสุกของทุเรียนจะมีเสียงที่แตกต่างกัน 3.สาธิตการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในทุเรียนไม่ต่ำกว่า 32%


“จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้มาลิ้มลองรสชาติของทุเรียนหมอนทองชุมพร ราชาทุเรียนใต้ โดยเฉพาะในช่วงวันงานเทศกาล “ผลไม้คุณภาพดี ทุเรียนเด่น เมืองชุมพร ปี 2565” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-26 มิถุนายน 2565 ณ สนามข้างโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา หน้าโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และสนามกีฬากลางจังหวัดชุมพร ถนนพิศิษฐ์พยาบาล ต.ท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร” ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าว


นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรมีเกษตรกรปลูกทุเรียนจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะปลูกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ชุมพรยังเป็นแหล่งผลิตทุเรียนหมอนทองที่สำคัญของประเทศไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออก และยังนับเป็นตลาดทุเรียนส่งออกที่สำคัญด้วย เนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร จึงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการปลูกทุเรียน โดยการสนับสนุนด้านวิชาการ การช่วยเหลือควบคุมดูแลผลผลิตเมื่อแก่จัด ยกระดับให้ทุเรียนชุมพรมีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อชื่อเสียงของจังหวัดชุมพร เนื่องด้วยทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ทำให้สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ของจังหวัดชุมพรเพิ่มมูลค่าขึ้น


ด้าน นายวีรวัฒน์ จีรวงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาอาชีพทำสวน เจ้าของสวนทุเรียน “สวนทวีทรัพย์” และนายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้อาชีพทำสวนทุเรียนของตนที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ประสบความสำเร็จ คือต้องมีความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค ไม่ยอมแพ้ ต้องสู้ต่อไป แม้จะพบกับอุปสรรคปัญหาหนักแค่ไหนก็ตาม ซึ่งตนเคยได้รับความเสียหายครั้งสำคัญจากวาตภัยพายุใต้ฝุ่นเกย์ เมื่อปี พ.ศ.2532 ทำให้บ้าน สวนผลไม้เสียหายอย่างมหาศาล เรียกว่าเหลือแค่ที่ดิน ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดเมื่อ พ.ศ.2534 จนถึงวันนี้เป็นเวลารวม 31 ปี โดยเน้นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และจำหน่ายเป็นทุเรียนคุณภาพเกรดพรีเมียมให้ห้างโมเดิร์นเทรด ในนามแบรนด์ “สวนทวีทรัพย์” โดยมี QR Code ติดที่ขั้วผล สามารถแสกนตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) พร้อมระบุวันที่บริโภคได้ อย่างชัดเจน



สำหรับการจำหน่ายผลผลิตจะมีหลายรูปแบบ เช่น ห้างท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต ในเครือบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เพจสวนทุเรียนสวนทวีทรัพย์ชุมพร เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ ล้ง ทุเรียนส่งออก จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ได้ผลผลิตดีตามเป้าหมาย โดยจากตัวเลขปี 2563 ผลผลิตเฉลี่ย 2,505 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 316,346.66 บาท โดยเป็นต้นทุนเฉลี่ย 69,086.66 บาท และกำไรเฉลี่ย 247,260 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น