ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพันธมิตร เปิดภาพตื่นตาใต้ท้องทะเล ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ ผลจากขาแท่นขุดเจาะปลดระวางเป็นปะการังเทียม พบปะการังเข้าเกาะเต็มพื้นที่ สร้างนิเวศสำคัญทางทะเลแห่งใหม่ กลายเป็นแหล่งเพาะฟักพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจกลางอ่าวไทยอีกแหล่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำทีมผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจสถานภาพพื้นที่จัดวางปะการังเทียม โดยใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และประมง ตั้งแต่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ซึ่งในจุดวางปะการังเทียมในฝั่งอ่าวไทยเป็นของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด จำนวน 7 ขาแท่น ซึ่งหมดอายุสัมปทาน ได้ถูกเคลื่อนย้ายนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียม โดยมีทีมประดาน้ำได้ลงสำรวจบันทึกภาพใต้น้ำ พบว่ามีผลอย่างน่าพอใจ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า พอใจกับสภาพระบบนิเวศใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์ และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์ และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ และขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่น โดยผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของประชาชนในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่เกิดผลกระทบ
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขณะนี้จัดวางปะการังเทียมไปแล้วกว่า 150,000 แท่ง สร้างแหล่งปะการังแห่งใหม่ใต้ท้องทะเลกว่า 36,000 ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณพื้นที่ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อน และสัตว์น้ำเข้ามาอาศัย เสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล ในช่วงแรกทำให้ประสิทธิภาพของการเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชฟรอนฯ และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ประโยชน์ขาแท่นเป็นบ้านให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งจากการสำรวจหลังการจัดวางปะการังเทียม พบการเข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาที่หนาแน่นขึ้น และมีความหลากหลายของชนิดปลาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดีบริเวณของขาแท่น ตลอดจนผลการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเชื่อมั่นว่ากองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้ชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต