xs
xsm
sm
md
lg

กระทู้เดือดปมต่อเติม ‘ตลาดสด อบจ.ตรัง’ ตามหาไอ้โม่งเก็บค่าเซ้ง-เช่าแผงบนถนนสาธารณะนาน 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เปิดบันทึกประชุมสภา ทต.ย่านตาขาว กระทู้เดือดปมต่อเติม ‘ตลาดสด อบจ.ตรัง’ ตามหาไอ้โม่งเก็บค่าเซ้ง-เช่าแผงบนถนนสาธารณะนาน 20 ปี ประธานต้องตัดบท ฝ่ายค้านจี้ถามเงินหายไปไหน? ด้านนายกฯ เล็กเปิดปากครั้งแรก โยนเผือกร้อนทุกเรื่องให้ไปถาม อบจ.ตรัง รับได้แค่ค่าทำความสะอาดเดือนละ 5 พัน

จากกรณีการก่อสร้างต่อเติมตลาดสดองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) หรือตลาดสดย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลตำบลย่านตาขาว ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทำให้เกิดตลาดซ้อนตลาด โดยส่วนที่ต่อเติมอยู่วงนอกตัวอาคารตลาด และรุกล้ำลงบนถนนสาธารณะของเทศบาลฯ อีกทั้งยังมีการขายของทุกชนิดเหมือนกันกับผู้ค้าในอาคาร พ่อค้าแม่ค้าในอาคารเดือดร้อนขายของไม่ได้มายาวนานกว่า 20 ปีที่มีการต่อเติม แผงจำนวนมากถูกทิ้งร้าง ไม่มีผู้เช่า ขณะที่ตลาดส่วนต่อเติมเพิ่งถูกรื้อถอนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่เทศบาลฯ ได้ฟ้องร้องไว้ ปัจจุบันจึงส่งผลกระทบมากมายต่อผู้ค้าหลายร้อยราย

ทั้งนี้ ตลาดดังกล่าวก่อสร้างเมื่อปี 2544 เฉพาะตัวอาคารในยุคของ นายกิจ หลีกภัย อดีตนายก อบจ. พี่ชายของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาไม่นานมีการต่อเติมส่วนรอบนอกโดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย อีกทั้งนายกิจ ยังถูก ด.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย อดีตสมาชิกสภา อบจ.ตรัง ร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้เช่าอาคารตลาดย่านตาขาว โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้แจ้งผลการพิจารณาข้อกล่าวหานายกิจ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ในข้อร้องเรียนที่ 2 คือปล่อยปละละเลยเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้เช่าทำการต่อเดิมอาคารที่เช่า อันเป็นการละเมิดสัญญาเช่า จนทำให้ปิดถนนตลอดแนวไป 1 ด้าน ผู้ค้าซึ่งอยู่ภายในอาคารตลาดของ อบจ.ขายของไม่ดี ประชาชนไม่เดินเข้าไปซื้อของ จากการยื่นทั้งหมด 5 ข้อร้องเรียน ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น


อย่างไรก็ตาม แม้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลไปแล้ว แต่เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมา โดยพ่อค้าแม่ค้าค้าจำนวนมากได้เข้าแจ้งปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นหลังการรื้อถอนกับผู้สื่อข่าว และพาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ โดยพบข้อมูลบางอย่างที่เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ และการจัดเก็บรายได้ของตลาดในอดีตที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ในส่วนที่มีการต่อเติมลงบนถนนสาธารณะของทางเทศบาลตำบลย่านตาขาว ซึ่งปรากฏว่ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้ค้ามาโดยตลอด โดยมีการแบ่งเป็นล็อก เป็นแผงค้าชัดเจน เสมือนเป็นตลาดถาวร เพราะมีการค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือค่าเซ้งแผงแรกเข้า และจ่ายต่อมือกันมา ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน อบจ.ตรังให้ร้านค้าเช่าแผงในอาคารตลาด แต่ต่อมาได้อนุญาตให้ต่อเติมสิ่งปลูกสร้างรอบตลาดสดโดยรอบ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าในขณะนั้นต้องออกค่าใช้จ่ายในการต่อเติม ค่าแป๊ะเจี๊ยะต่างๆ รวมๆ แล้วแต่ละคนต้องจ่ายเงินคนละประมาณ 1 แสนบาท และยังมีค่าเช่ารายวัน ค่าเช่ารายเดือน โดยผู้ค้ายอมจ่ายโดยไม่เคยทราบมาก่อนว่าตัวเองขายของอยู่บนถนนสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีค่าเก็บขยะที่ทางเทศบาลฯ จัดเก็บแผงละ 20 บาท โดยออกเป็นคูปองใบเสร็จอีกด้วย และไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ใครหรือหน่วยงานใด

ล่าสุดกรณีเงินที่มีการเรียกเก็บดังกล่าว ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากในหมู่ประชาชนเขตพื้นที่ อ.ย่านตาขาว โดยพ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งได้เข้าร้องเรียนกับสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ตำบลย่านตาขาว กลุ่มฝ่ายค้าน เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการเรียกเก็บเงินดังกล่าวว่าใครเป็นผู้เก็บ และเงินไปอยู่ที่ใด เพราะหากเป็นการเรียกเก็บโดยมิชอบ ก็หวังว่าจะได้เงินดังกล่าวคืน เพราะเป็นยอดเงินจำนวนมาก และมีความสำคัญ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของคนหาเช้ากินค่ำในขณะนี้

นายวุฒิชัย สุนทรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว
ผู้สื่อข่าวได้รับบันทึกการประชุมเทศบาลตำบลย่านตาขาว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 ที่จัดประชุมขึ้น ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลย่านตาขาว เมื่อเวลา 10.00 น. เป็นการประชุมสภาเทศบาลฯ สมัยสามัญ สมัยแรก ประจำปี 2565 โดยนายพรชัย ทัฬหธีรวัฒน์ รองประธานสภาเทศบาลตำบลย่านตาขาว ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยในช่วงกระทู้ถาม กลุ่ม ส.ท.ฝ่ายค้าน นำโดย นายสุชาติ มัธยันต์ ได้ตั้งกระทู้ถาม นายวุฒิชัย สุนทรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาวหลายสมัย กรณีการรื้อถอนต่อเติมบริเวณตลาด อบจ.ตรัง ในส่วนที่มิได้รับอนุญาต

นายสุชาติ กล่าวว่า อ้างอิงจากประกาศเทศบาลตำบลย่านตาขาว ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้เทศบาลตำบลย่านตาขาว ดำเนินการรื้อถอนอาคารในส่วนที่มีการดัดแปลง ต่อเติม ที่มิได้ขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น และจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จึงอยากถามไปยังนายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาวว่า 1.จุดเริ่มต้นการต่อเติมตลาดนี้ ทางเทศบาลฯ และ อบจ.รับรู้หรือไม่ 2.เมื่อเริ่มต้นก่อสร้างจนถึงแล้วเสร็จสิ้นในการต่อเติมส่วนที่มิได้รับอนุญาต และได้มีการค้าขายกันมานานหลายปี เทศบาลฯ ไม่เคยเห็น และไม่เคยรับรู้ว่ามีส่วนต่อเติมนี้เลยหรือ 3.จากข้อที่ 2 ถ้าหากรู้ว่ามีการต่อเติมในส่วนที่มิได้รับอนุญาต ทำไมถึงไม่ได้มีการยับยั้งการก่อสร้างตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขออนุญาต (อิงจากคำให้การของทางเทศบาลฯ จากประกาศเรื่องรื้อถอนบริเวณส่วนต่อเติมจากเอกสารข้างต้น)

“4.เมื่อส่วนต่อเติมเสร็จมีการเรียกเก็บผลประโยชน์ต่างๆ จากผู้ค้าทุกราย ผลประโยชน์นี้เทศบาลฯ รับทราบหรือไม่ และ 5.ได้มีการฟ้องดำเนินคดีใดๆ กับผู้ที่เรียกรับประโยชน์จากการให้มีการต่อเติมดังกล่าวหรือไม่ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป ผมก็อยากทราบ ชาวบ้านก็อยากทราบ” นายสุชาติ ระบุ


ด้านนายวุฒิชัย สุนทรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว ตอบกระทู้ว่า เรื่องการต่อเติมตลาดสดย่านตาขาว ที่เป็นปัญหานั้น คือเริ่มต้นงานก่อสร้างต่อเติมตลาดนี้ ทางเทศบาลฯ และทาง อบจ.ไม่ได้รับรู้ในการต่อเติม ในส่วนของเทศบาลฯ ตนในฐานะนายกเทศมนตรีก็ไม่ทราบ เนื่องจากเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้ว ในส่วนของ อบจ.ตรัง ก็ต้องไปถามข้อมูลจาก อบจ.ในฐานะ อบจ.มีผลประโยชน์เก็บค่าตลาด เมื่อเริ่มต้นก่อสร้างจนถึงเสร็จสิ้น ในการต่อเติมส่วนที่มิได้รับอนุญาต และได้มีการค้าขายมาหลายปี เทศบาลย่านตาขาวก็ไม่ได้รับรู้เรื่องตรงนี้ เพราะตนมีปัญหากับนายก อบจ.คนเก่า (นายกิจ หลีกภัย อดีตนายกฯ อบจ.ตรัง พี่ชาย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา) และกับสมาชิก อบจ.


“ถามว่าทำไมไม่ยับยั้งการต่อเติม ถ้าเป็นสิทธิประโยชน์ของเทศบาลฯ ก็จะยับยั้งการก่อสร้างตรงนี้ แต่เทศบาลฯ ไม่ได้รับรู้เรื่องการก่อสร้าง และผลประโยชน์ก็ต้องถาม อบจ.ตรัง เมื่อส่วนต่อเติมนี้เสร็จ มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ต่างๆ จากผู้ค้าทุกราย ผลประโยชน์ตรงนี้เทศบาลฯ ไม่เคยได้รับ เพราะตลาดนี้เป็นของ อบจ.ตรัง เทศบาลฯ จะได้รับผลประโยชน์จากการทำความสะอาด 15 วันครั้ง ครั้งละ 2,500 บาท เดือนละ 5,000 บาท” นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว ชี้แจง


นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า ตลาดสดย่านตาขาว สร้างครั้งแรกเมื่อปี 2505 เป็นตลาดชั้นเดียว และครั้งที่ 2 สร้างราวปี 2542-2543 ทางเทศบาลย่านตาขาวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยที่ดินดังกล่าวสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้โอนให้กับ อบจ.ตรัง เป็นผู้รับผลประโยชน์ ต่อมา อบจ.นายกคนเก่า (นายกิจ) ได้ให้ช่าง อบจ.มาต่อเติมจากบ้านจีเอี๊ยะ (คนในพื้นที่) ไปถึงร้านเอบี ระยะประมาณ 14 คูหาอาคาร และมีการสร้างอาคารเพิ่มและเป็นปัญหาด้วย รวมทั้งการต่อเติมตลาดที่เกิดปัญหา นายชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย อดีต ส.จ. จึงได้ทำหนังสือถึง ป.ป.ช.ตรัง ก็มาเล่นเทศบาลฯ ว่าทำไมไม่ดำเนินการ เพราะสร้างโดยไม่บอกเทศบาลฯ ว่าจะต่อเติม


“ทางเทศบาลฯ ก็ทำหนังสือถึงนายก อบจ. แต่ทาง อบจ.ก็เฉย ป.ป.ช.ก็เลยจะเล่นงานเทศบาลฯ ผมในฐานะนายกฯ จึงได้ปรึกษารองนายกฯ ปลัดเทศบาลฯ นิติกร จึงทำหนังสือฟ้องนายก อบจ. ถ้าเราไม่ฟ้องนายก อบจ. เราก็โดนฟ้องมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการรื้อถอนตรงนี้ ตอนแรกจะรื้อถอนเดือนธันวาคม 2564 แต่มารื้อเดือนมีนาคม 2565 เทศบาลฯ มีอำนาจสามารถเรียกเก็บค่าดำเนินการจ้างรื้อถอนจาก อบจ.เป็นเงิน 190,700 บาท ยืนยันว่าที่มาที่ไป ปัญหาต่างๆ เรื่องตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทศบาลฯ” นายวุฒิชัย กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุม กลุ่ม ส.ท.ฝ่ายค้านคนอื่น อาทิ นายยอดณรงค์ ไชยทวีวงศ์ พยายามซักถามต่อ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้พูด โดยนายสุวิว มณีโชต์ ปลัดเทศบาลตำบลย่านตาขาว ในฐานะเลขานุการสภาเทศบาลฯ ได้กล่าวตัดบท อ้างว่าตามข้อบังคับการประชุมแล้ว ต้องเป็นเจ้าของกระทู้เท่านั้นที่เป็นคนสอบถาม สมาชิกที่ไม่ได้ตั้งกระทู้ไม่มีสิทธิ์ตั้งคำถามในเรื่องนั้นๆ ทำให้ประธานการประชุมวินิจฉัยไม่อนุญาตให้ ส.ท.คนอื่นถามต่อในประเด็นเดียวกัน

นายสุวิว มณีโชต์ ปลัดเทศบาลตำบลย่านตาขาว กล่าวเสริมทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับกำหนดการรื้อถอนส่วนต่อเติม ตามคำสั่งศาลในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นั้น สืบเนื่องจากการประสานไปยัง อบจ.ตรัง เดิมที่เราจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก อบจ.ตรังมาเลย แต่พอได้ประชุมร่วมกันกับ อบจ.ตรัง ปรากฏว่าในระเบียบต้องให้ทางเทศบาลตำบลย่านตาขาว ออกค่าใช้จ่ายไปก่อน แต่เราก็ไม่ได้ตั้งงบนั้นไว้ล่วงหน้า ทำให้การรื้อถอนล่าช้า แต่ขณะนี้ทางเทศบาลฯ ได้รับโอนงบรื้อถอนจาก อบจ.ตรังเรียบร้อยแล้ว และได้ขอตัวพนักงาน อบจ.ตรัง 2 คน มาเป็นช่างควบคุมงานรื้อถอน และตรวจงานช่างรื้อถอนด้วย

อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง:
รื้อแล้วไม่จบ! ต่อเติมตลาดย่านตาขาวยุค “กิจ หลีกภัย” ผู้ค้าโวยเดือดร้อนไร้ที่ขาย










กำลังโหลดความคิดเห็น