xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจแนวเส้นทางโครงการ “สะพานสตูล-เปอร์ลิส” จัดทำแผนเสนอของบประมาณ 50 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล - เริ่มขยับแล้ว! ชาวบ้านเฮโครงการ “สะพานสตูล-เปอร์ลิส” หลังรอคอยยาวนานมากว่า 34 ปี เชื่อจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ล่าสุด หลายฝ่ายลงพื้นที่หาแนวเส้นทางเพื่อจัดทำแผนเสนอของบประมาณในปี 2566 จำนวน 50 ล้านบาท

“สะพานสตูล-เปอร์ลิส” โครงการในฝันของชาวสตูลที่รอคอยมาอย่างยาวนาน มาวันนี้เริ่มมีการขยับอีกครั้ง หลังมีนโยบายจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ทำโครงการจุดเชื่อมโยงสตูล-รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ผ่านมายังเกาะปูยู จ.สตูล

โดยนายธนัตถ์ รามแก้ว ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล พร้อมวิศวกรกรมทางหลวง ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.สตูล ลงหาแนวเส้นทางเพื่อจัดทำแผนเสนอของบประมาณในการปรับปรุงเส้นทางเชื่อมโยงรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย และเกาะปูยู ต.ปูยู อ.เมืองสตูล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสภาพัฒน์ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50 ล้านบาท

นายธนัตถ์ รามแก้ว ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล กล่าวว่า โดยเส้นทางที่ลงมาสำรวจ คือ จุดขึ้นลงสะพานเกาะปูยู และบ้านเขาขาว หมู่ 3 ต.ปูยู ใกล้ชายแดนมาเลเซีย ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพื่อนำข้อมูลไปออกแบบ และศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ เช่น วิศวกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นท้องที่ เชื่อว่าจะได้รับงบประมาณในการศึกษาผลกระทบในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50 ล้านบาท

ด้านนายยะอาโกบ เตะปูยู ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน ต.ปูยู ยอมรับว่า โครงการสะพานสตูล-เปอร์ลิส เป็นโครงการที่รอคอยมาอย่างยาวนาน และเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาจะดีขึ้น พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างแท้จริง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน


สำหรับโครงการ “สะพานสตูล-เปอร์ลิส” เป็นการก่อสร้างสะพานอันดามันเกตเวย์ ตำมะลัง-ปูยู จ.สตูล ไปสู่รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งกรมทางหลวง ได้เคยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการศึกษาด้านความคุ้มทุน และสิ่งแวดล้อม โดยผลการศึกษาครั้งแรกทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่เห็นด้วย เนื่องจากการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง

ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าไม่ผ่านดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจ และไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนในขณะนั้น รวมถึงประเทศมาเลเซียไม่เห็นด้วย เนื่องจากไปอยู่ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ส่วนครั้งที่ 3 เป็นการศึกษาโดยภาคเอกชน แต่ต้องยกเลิกระหว่างการศึกษา เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้มีการผลักดันให้ศึกษาโครงการสะพานสตูล-เปอร์ลิส และมีการพูดคุยในที่ประชุมในหลายๆ เวที แต่สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของการพูดคุยระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ และระหว่างชายแดนต่อชายแดน จึงจะสามารถนำไปสู่การตั้งงบประมาณของกรมทางหลวง แต่ยังไม่มีการจัดตั้งงบประมาณ






กำลังโหลดความคิดเห็น