xs
xsm
sm
md
lg

น่ายินดี! เกษตรกรเจ้าของควายน้ำทะเลน้อย ระบุการเลี้ยงควายเป็น “มรดกทางการเกษตรโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พัทลุง - เกษตรกรเจ้าของควายน้ำทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ระบุการเลี้ยงควายเป็น “มรดกทางการเกษตรโลก” และเป็นเรื่องน่ายินดี เชื่อหลายฝ่ายจะได้เห็นความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา

วันนี้ (11 พ.ค.) จากกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยื่นเอกสารขอรับรองวิถีการเลี้ยงควาย และเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย เป็นมรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GAHS) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ Ramsar site และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตร ที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และยั่งยืน บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย โดยสืบทอดการเลี้ยงควายมายาวนานกว่า 250 ปี


สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีรายได้หลักจากการขายควาย การทำประมง ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด ด้านระบบนิเวศนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำ และพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูด ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช และมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืช และแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา และในส่วนของด้านวัฒนธรรม ควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ มีพิธีกรรม และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควายนอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าได้อีกด้วย

นายทันยะ สุบันสง
นายทันยะ สุบันสง อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 291หมู่ 1 ต.พะนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกษตรกรเจ้าของควายบริเวณพื้นที่ทุ่งหญ้าคลองนางเรียม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย กล่าวว่า วิธีการเลี้ยงควาย และเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย เป็นมรดกทางการเกษตรโลกนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับเกษตรกรเจ้าของควายในพื้นที่ทะเลน้อย แต่เกษตรกรหลายรายยังไม่ทราบแนวทาง และหลักการสำหรับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

นายพรประเสริฐ เกื้อคราม
ขณะที่ นายพรประเสริฐ เกื้อคราม อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 300 หมู่ 13 ต.พะนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกษตรกรเจ้าของควายน้ำทะเลน้อยกว่า 200 ตัว กล่าวว่า ปัจจุบันระบบนิเวศในพื้นที่ทุ่งหญ้าทะเลน้อยเปลี่ยนไป เกษตรกรเจ้าของควายเริ่มกังวลต่อการเลี้ยงควายที่สร้างรายได้ และเป็นมรดกที่ได้จากพ่อแม่ ปู่ย่า ซึ่งการยกวิถีการเลี้ยงควาย และเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย เป็นมรดกทางการเกษตรโลกนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยหลายฝ่ายจะได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา และแนวทางการเลี้ยงควายน้ำเพื่อความอยู่รอด และยั่งยืนในอนาคตต่อไป แต่การเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อยปีนี้ถือว่าแย่ที่สุด เพราะฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องทำให้ทุ่งหญ้าเลี้ยงควายโดยรอบเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีน้ำท่วมขังนานกว่า 6 เดือน จากปกติท่วมขังเพียง 3 เดือนเท่านั้น ถือว่าปีนี้แย่ที่สุดเท่าที่เคยเจอปัญหามา ควายผอม ควายตาย เจ้าของควายบางรายเริ่มท้อ ถึงขนาดจะขายควายยกฝูงก็มี




กำลังโหลดความคิดเห็น