xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านรวมตัวปกป้องสิทธิเรียกร้องขุดลอกร่องน้ำ “อ่าวกุ้ง” แก้ปัญหาความเดือดร้อน จี้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบอาจารย์บิดเบือนข้อมูลปะการัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวบ้านอ่าวกุ้งนัดรวมตัวเปิดเวทีเสวนาปกป้องสิทธิเรียกร้องให้ขุดลอกร่องน้ำ “อ่าวกุ้ง” (ท่าเล) แก้ปัญหาความเดือดร้อนเรือประมงเข้าออกไม่ได้ต้องรอช่วงน้ำขึ้นเท่านั้น หลังผ่านกระบวนการต่างๆ ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ถูกคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์ เดินหน้าต่อยื่นกรรมการสิทธิฯ ชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมจี้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบและตักเตือนอาจารย์บิดเบือนข้อมูลปะการัง


เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านบางลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ชาวบ้านบ้านอ่าวกุ้ง หมู่ที่ 9 ต.ป่าคลอก ได้รวมตัวกันจัดเสวนาชี้แจงข้อเท็จจริง ทำความจริงให้ปรากฏ ประเด็นการขุดลอกร่องน้ำสาธารณะประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล) โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ต้องการให้ขุดลอกร่องน้ำ นำเสนอข้อเท็จจริงและความต้องการของชาวบ้าน พร้อมด้วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริง และยืนยันว่าการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดแล้ว เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประมงพื้นบ้านที่ไม่สามารถนำเรือเข้าจอดได้ตลอดเวลา จะต้องรอช่วงเวลาน้ำขึ้นเท่านั้น รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


นายเฉด พันธุ์ทิพย์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า การขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) นั้น เกิดจากความต้องการของชาวบ้านที่ไม่สามารถนำเรือเข้าออกท่าเรือดังกล่าวได้ตลอดเวลา จะต้องรอเวลาน้ำขึ้นเท่านั้น จากสภาพของร่องน้ำที่ตื้นเขิน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันทำหนังสือไปยังเทศบาลตำบลป่าคลอก เพื่อขอความอนุเคราะห์ขุดลอกร่องน้ำแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน และได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วย เทศบาลฯ จึงได้ทำหนังสือถึงจังหวัดภูเก็ตเพื่อนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการการขุดลอกร่องน้ำตามที่กฎหมายกำหนด จนถึงขั้นตอนที่กรมเจ้าท่าได้ออกแบบการขุดลอกร่องน้ำและนำมารับฟังความเห็น ชาวบ้านเห็นด้วยกับรูปแบบขุดลอก และมาตรการในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและป่าชายเลน รอเพียงการเข้ามาดำเนินการของกรมเจ้าท่า

แต่โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่เพียงไม่กี่คนที่ไม่เห็นด้วย ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการและคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ คัดค้านการขุดลอกร่องน้ำ โดยอ้างว่าการรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มบ้าง ส่งผลกระทบต่อปะการังที่เกาะเฮ และป่าชายเลน ทั้งๆ ที่การประชุมทุกครั้งมีการเชิญกลุ่มคัดค้านเข้าร่วม แต่ทางกลุ่มไม่เข้าร่วมประชุม รวมไปถึงในส่วนของผลกระทบนั้นในการออกแบบการขุดลอกได้วางมาตรการให้กระทบน้อยที่สุด เช่น การปิดตะแกรงป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอนดิน ดินที่ขุดได้จะต้องนำขึ้นไปทิ้งบนฝั่งเท่านั้น รวมไปถึงระยะทางการขุด 1,200 เมตรนั้น ในส่วนที่ติดกับป่าชายเลนได้ออกแบบการขุดให้แคบที่สุดเพื่อป้องกันผลกระทบป่าชายเลน


“กลุ่มคัดค้านมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องขุดร่องน้ำดังกล่าวเพราะไม่ได้เป็นร่องน้ำตามธรรมชาติ ทั้งๆ ที่ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อปี 2510 ระบุชัดว่ามีร่องน้ำตามธรรมชาติ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ใช้ท่าเรือมาโดยตลอด ซึ่งเราเคารพสิทธิของเขาที่ออกมาคัดค้าน เพราะกลุ่มที่ออกมาคัดค้านคือกลุ่มที่ไม่ได้เดือดร้อนจากการใช้ท่าเรือแห่งนี้ แต่ไปใช้ท่าเรืออื่นแทน แต่ชาวบ้านกว่า 30 รายที่ใช้ท่าเรือนี้เดือดร้อน” นายเฉด กล่าวและว่า

ในส่วนของชาวบ้านจะเดินหน้าผลักดันขุดลอกร่องน้ำเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งช่วงเช้าวันนี้ ชาวบ้านได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้กำลังใจและขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ได้มีการดำเนินการโครงการขุดลอกร่องน้ำตามขั้นตอนที่กำหนด รวมไปถึงได้เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบและว่ากล่าวตักเตือนอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กรณีที่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ด้วยการนำภาพถ่ายแนวปะการังในพื้นที่ตำบลราไวย์ มาเป็นภาพปกในการจัดเสวนาเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสื่อให้เห็นว่าปะการังที่เกาะเฮยังสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่นักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า ปะการังได้รับความเสียหายไปแล้ว 80% ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการคัดค้านการขุดลอกร่องน้ำ และหากนักวิชาการรายดังกล่าวยังดื้อดึงทางชาวบ้านจะดำเนินการทางกฎหมายในลำดับต่อไป ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้มีการแต่งตั้งทีมทนายความเพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแล้ว

“ผมได้ลงไปพิสูจน์ความจริงในพื้นที่แล้ว พร้อมกับถ่ายรูปปะการังที่อาจารย์ท่านนั้นระบุว่า เป็นปะการังที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง เมื่อมาเปรียบเทียบกัน ที่อ่าวกุ้งไม่มีปะการังตามที่ภาพนั้นนำเสนอ ยืนยันได้ว่าเป็นแนวปะการังที่ราไวย์ ซึ่งกลุ่มคัดค้านและอาจารย์คนดังกล่าวบิดเบือนข้อมูลความเป็นจริง ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีแนวปะการังตามภาพที่นำเสนอแต่อย่างใด”


รวมไปถึงได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนและความต้องการของชาวบ้าน และในช่วงบ่ายของวันนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ลงพื้นที่จุดบริเวณที่จะขุดลอกร่องน้ำเพื่อดูสภาพจริงๆ และความเดือดร้อนของชาวบ้าน

“ชาวบ้านรอการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้งอย่างมีความหวังว่าจะได้ขุดอย่างแน่นอน เรือจะได้เข้าออกได้ตลอดทั้งวัน ไม่ต้องรอช่วงน้ำขึ้น เพราะได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ หมดแล้ว รวมไปถึงหลักฐานต่างๆ ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเมื่อขุดแล้วเสร็จนอกจากชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการออกไปทำประมงแล้ว ต่อไปในอนาคตท่าเรือแห่งนี้จะเกิดประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวของตำบลป่าคลอกอีกด้วย” นายเฉด กล่าวในที่สุด


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) มีความเห็นต่างของชาวบ้านในพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วย ต้องการให้ขุดลอกร่องน้ำ เพื่อแก้ปัญหาร่องน้ำธรรมชาติตื้นเขิน เรือประมงพื้นบ้านไม่สามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา ต้องรอช่วงน้ำขึ้น กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย มองว่าจุดที่จะขุดลอกไม่ได้เป็นร่องน้ำที่เกิดจากธรรมชาติ แต่เป็นร่องน้ำที่เกิดจากการทำลายต้นโกงกางให้ตายจนกลายเป็นป่าแหว่ง และการขุดลอกดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนในบริเวณใกล้เคียง รวมไปถึงแนวปะการังที่เกาะเฮ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการขุดลอกได้ ทั้งๆ ที่โครงการได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น