xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับแยกตะลุโบะ จ.ปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัตตานี - กรมทางหลวงจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับแยกตะลุโบะ จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงาน และประชาชนในพื้นที่ครั้งที่ 3

วันนี้ (10 พ.ค.) ที่ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมสรุปผลการศึกษาครั้งที่ 3 โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบะ) จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงาน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสรุปผลการศึกษา รวมทั้งการออกแบบโครงการใช้พื้นที่เขตทางหลวง เพื่อให้มีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณทางแยกน้อยที่สุด รวมทั้งแก้ไขปัญหาจราจรในแต่ละทิศทาง และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางแยก โดยมี นายคุณวุฒิ สุนทรนนท์ ผู้แทนสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง นายสมกิตติ์ กิตติโศภิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี และผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งในห้องประชุม และร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์พร้อมกัน


นายคุณวุฒิ สุนทรนนท์ ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากแยกตะลุโบะ ซึ่งเป็นจุดทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเป็นแนวเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร และการสัญจรในแนวทางหลวงหมายเลข 410 ต้องกลับรถบริเวณใต้สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี และกลับรถบนแนวทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้น การปรับปรุงบริเวณแยกตะลุโบะ เป็นทางแยกต่างระดับจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภูมิภาคอื่นๆ และประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย


สำหรับรูปแบบโครงการออกแบบเป็นสะพานข้ามจุดตัดทางแยกในแนวทางหลวงหมายเลข 42 ปัตตานี-นราธิวาส เชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีด้านฝั่งแยกตะลุโบะ เป็นสะพานคู่ขนานขนาด 4 ช่องจราจร ด้านล่างบริเวณจุดตัดทางแยกใต้สะพานปรับปรุงเป็นแยกสี่แยกสัญญาณไฟจราจร ทำให้การสัญจรในแนวถนนยะรัง และทางหลวงหมายเลข 410 สายปัตตานี-ยะลา-เบตง สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ฝั่ง ทิศทางการจราจรเป็นแบบเดินรถทางเดียว เพื่อความรวดเร็วในการสัญจร และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาโครงการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา ขณะเดียวกัน ได้เตรียมของบประมาณในก่อสร้างปี 2567 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2570 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัด รวมทั้งประชาชนเดินทางสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น