ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ชาวจะนะ กลุ่มหนุนนิคมอุตสาหกรรม เร่งรัฐบาล-สภาพัฒน์ผลักดัน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ" หวังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ ชี้ยิ่งน้ำมันแพง-ปุ๋ยแพง กระทบทั้งอาชีพเกษตรกรและประมง ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนให้ประชาชน
วันนี้ (10 พ.ค.) นางมณี อนันทบริพงษ์ แกนนำประชาชนผู้สนับสนุนเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของชาวจะนะ ที่ต้องการเห็นการพัฒนาเกิดขึ้นในพื้นที่ตามโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ วันนี้ต้องออกมาวิงวอนรัฐบาลและสภาพัฒน์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ให้เร่งขับเคลื่อนโครงการนี้ให้รวดเร็วและเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะเป็นความหวังของคนในพื้นที่และของนักเรียน นักศึกษาที่จบมาแล้วยังไม่มีงานทำ และที่จะจบใหม่อีกจำนวนมาก
นางมณี กล่าวว่า ทุกวันนี้ปุ๋ยและวัสดุต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรมีราคาแพง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีการปรับราคากว่า 100% เช่นเดียวกับยาปราบศัตรูพืชที่ราคาเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 เท่าตัว กลายเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรอย่างสาหัส เพราะไม่มีเงินพอที่จะซื้อปุ๋ยมาใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งการทำการเกษตรถ้าไม่มีปุ๋ย ไม่มีปัญญาซื้อยาปราบศัตรูพืช เท่ากับเป็นการล้มเหลวของการประกอบอาชีพ รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงทำให้สินค้าทุกชนิดปรับเปลี่ยนราคาขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วยากจนยิ่งขึ้น
"ผลกระทบจากโควิด-19 ยังทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง การจ้างงานน้อยลง ประเทศมาเลเซียยังไม่ประกาศรับคนงานไทยกลับไปทำงาน เมื่อมาเจอกับปัญหาน้ำมันแพงและราคาสินค้าปรับตัว ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้คนในพื้นที่ยากจนยิ่งขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่ผลักดันให้เกิดโครงการใหญ่ๆ อย่างนิคมอุตสาหกรรม ที่ต้องให้คนทำงานจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาคนจน คนว่างงาน คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ สังคมในพื้นที่ให้ดีขึ้น เพราะนับวันความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่มีแต่แย่ลง จนลงทุกวัน" นางมณี กล่าว
ในขณะที่นายยา หว่าหลำ ชาวประมงชายฝั่งกล่าวว่า ตนเลิกทำอาชีพประมง เพราะเป็นอาชีพที่ไม่พอเลี้ยงตัว ปลาในทะเลน้อยลง แต่การใช้เงินในการลงทุนมากขึ้น ค่าซ่อมเรือ อุปกรณ์ในการทำประมงล้วนมีราคาแพงทุกวัน และยิ่งตอนนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการออกเรือขึ้นราคาถึงลิตรละ 50 บาท ยิ่งทำให้การเป็นชาวประมงยากลำบากยิ่งขึ้น การทำประมง ไม่ใช่อาชีพที่ทำได้ทุกวัน มีวันที่ทำไม่ได้ และหน้ามรสุมก็ต้องหยุด ถ้าในพื้นที่มีการลงทุน มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมอย่างที่เห็นมา จะเป็นทางเลือกให้คนในพื้นที่มีอาชีพใหม่ที่เลี้ยงตัวได้ ซึ่งเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนในพื้นที่ ตนเอง และคนในพื้นที่ต้องการเห็นการพัฒนา เพื่อเป็นทางออกและทางเลือกในการประกอบอาชีพ ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่เร่งรีบในการขับเคลื่อน การพัฒนาให้สำเร็จ ทั้งที่จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน และคนว่างงานได้