สุราษฎร์ธานี - สถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำป่าไหหลากในพื้นที่สุราษฎร์ธานียังคงน่าห่วง ล่าสุดขยายพื้นที่เข้าท่วมอีก 1 อำเภอ รวมพื้นที่ผลกระทบเป็น 4 อำเภอ บ้านพังเสียหายทั้งหลัง 7 หลัง มีผู้สูญหาย 1 คน ล่าสุดยังไม่ทราบชะตากรรม จังหวัดสั่งเฝ้าระวังพื้นที่ริมคลองด้านล่าง
จากสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.วิภาวดี ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ อ.ท่าฉาง อ.วิภาวิดี และ อ.ไชยา ถนนหลายสายเสียหาย บางเส้นถูกกระแสน้ำกัดเซาะขาด
ล่าสุด เมื่อเวลา 07.00 น.วันนี้ (7 พ.ค.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุราษฎร์ธานี ได้สรุปสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากตั้งแต่วันที่ 6-7 พ.ค.2565 จำนวน 3 อำเภอ คือ อ.วิภาวดี อ.ไชยา และ อ.ท่าฉาง รวม 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 130 ครัวเรือน 523 ราย มีผู้สูญหาย 1 ราย เนื่องจากถูกกระแสน้ำพัดขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ข้ามหลังท่อ box culvert ไม่มีผู้บาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต มีบ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 18 หลัง ถนนในหมู่บ้านชำรุดเสียหาย 25 สาย สะพาน คอสะพาน ชำรุดเสียหาย 18 แห่ง
พื้นที่ได้ผลกระทบ จำนวน 3 อำเภอ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.วิภาวดี ต.ตะกุกเหนือ หมู่ที่ 7, 8, 11, 13, 15 มีบ้านเรือนพังเสียหายบางส่วน 9 หลัง ราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 52 ครัวเรือน 208 คน อ.ไชยา ต.ปากหมาก หมู่ที่ 7 มีบ้านพังเสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 8 หลัง ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 45 ครัวเรือน 180 คน และ อ.ท่าฉาง ต.ปากฉลุย หมู่ที่ 4, 5 มีบ้านเรือนพังเสียหายบางส่วน 1 หลัง มีผู้สูญหาย จำนวน 1 ราย เนื่องจากถูกกระแสน้ำพัดขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ข้าม box culvert ราษฎรได้รับผลกระทบ 33 ครัวเรือน 135 คน ด้านความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีฝนตกเล็กน้อย ปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชม.ที่ผ่านมา มากที่สุด หมู่ที่ 7 บ้านคลองไม้แดง ต.ปากหมาก อ.ไชยา วัดได้ 173 มม. ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเช้าปริมาณน้ำยังได้ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองในพื้นที่ ต.น้ำหัก อ.คีรีรัฐนิคม จำนวน 6 หลังคาเรือน
ในขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งการอำเภอและหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ ให้อำเภอ อบต.แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองด้านล่าง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมศูนย์อพยพ เครื่องมือ อุปกรณ์ รถยกสูง หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ไม่ขับรถผ่านทางน้ำข้าม หรือลงไปในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อป้องกันการสูญเสีย จัดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร.อาสาสมัคร มูลนิธิ เฝ้าระวังต้นไม้ เศษไม้ ขยะมากับน้ำติดที่ตอม่อสะพาน ให้กำจัดออกจากตอม่อสะพานทันที