ชุมพร - กรมท่าอากาศยานเตรียมขยายสนามบินชุมพร รองรับเครื่องระหว่างประเทศขนาด 300 ที่นั่ง สนองนโยบายกระทรวงคมนาคน สร้างท่าเรือน้ำลึก เชื่อมสะพานเศรษฐกิจฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน สู่ตลาดโลก
วันนี้ (26 เม.ย.) ว่าที่ ร.ท.สมชาย เรืองจันทร์ ปลัดจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การประชุมปฐมนิเทศโครงการ) งานออกแบบขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน องค์ประกอบอื่นๆ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ท่าอากาศยานชุมพร ในพื้นที่ ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยมี นายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยายด้านเศรษฐกิจ นายอาทิตย์ วินิจสร ผอ.ก่อสร้างและบำรุงรักษา นายนราธิป ดีแก้ว วิศวกรรมโยธาชำนาญการพิเศษ กองก่อสร้างและบำรุงรักษา และนายอำพร ภัคดี ผอ.ท่าอากาศยานชุมพร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น วัด และสถานศึกษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเข้าร่วมรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น ที่ห้องประชุมโรงแรมชุมพรการ์เดนส์ ต.ท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร
สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน พร้อมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารและสายการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานชุมพร ยังไม่สามารถรับอากาศยานขนาด 300 ที่นั่ง ที่สายการบินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ให้บริการได้ กรมท่าอากาศยานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาท่าอากาศยาน ขยายทางวิ่ง ทางขับ ลาดจอดเครื่องบิน และ องค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมตามมาตรฐาน
อีกทั้งเพื่อรองรับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือชุมพรให้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) ซึ่งโครงการนี้จะขยายขีดความสามารถการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้สู่เศรษฐกิจโลก
กรมท่าอากาศยาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เพียงพอต่อความต้องการการใช้สนามบินในอนาคต ซึ่งพบว่าการปรับปรุงขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการให้น้อยที่สุด จึงมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อโครงการและรับฟังความคิดเห็น รับฟังความต้องการ สภาพปัญหา ข้อวิตกกังวลและข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายเพื่อการศึกษาโครงการขั้นตอนต่อไป