ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สุดปัง! เก็บกระเป๋าพร้อมเดินทางเที่ยวให้ฟินกับ 2 โปรแกรม “ล่องแพโหนหอย บ้านเกาะนก-ท่องจุดชมวิวเขาไข่นุ้ย @พังงา” โดยโฮมสเตย์บังไข่ เขาไข่นุ้ย วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
“ล่องแพโหนหอย บ้านเกาะนก-ท่องจุดชมวิวเขาไข่นุ้ย @พังงา” โดยโฮมสเตย์บังไข่ เขาไข่นุ้ย วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เห็นโปรแกรมท่องเที่ยวแล้วเชื่อว่าหลายคนคงอดใจไม่ไหว เก็บกระเป๋าพร้อมเดินทางทันทีเพื่อมาสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวสุดปัง! เข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน
ผศ.ดร.นิมิต ซุ้นสั้น ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดพังงา กล่าวว่า การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการสร้าง Story-telling ของเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเขาไข่นุ้ย การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และภาคีการท่องเที่ยวหน่วยงานต่างๆ เช่น หอการค้าพังงา องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมะพร้าว ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดพังงา เพื่อเล่าเรื่องราวของเส้นทางการท่องเที่ยว 2 เส้นทาง
เส้นทางแรกคือ ล่องแพเกาะนก ตามธีม “ล่องแพ โหนหอย มาหรอยกันที่เกาะนก” ที่มีจุดเด่นคือ การล่องแพชมป่าโกงกาง และสัตว์ตามธรรมชาติ กิจกรรมหาหอย ชม Unseen สันหลังมังกร และรับประทานอาหารทะเลสดๆ จากการปรุงของชุมชน ที่จะช่วยสร้างความสุขตลอดการทำกิจกรรมการท่องเที่ยว
เส้นทางที่สองคือ จุดชมวิวเขาไข่นุ้ย ตามธีม “หมอกยามเช้า ผ่าวโก้ปี้ โรตีน้ำแกง” ที่มีจุดเด่นคือ ทะเลหมอกยามเช้าของจังหวัดพังงา ได้ลิ้มชิมรสชา กาแฟ และเพลิดเพลินกับโรตีน้ำแกงจากเครื่องแกงของชุมชน เส้นทางนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศยามเช้า และอร่อยกับอาหารได้เป็นอย่างดี
หากนักท่องเที่ยวสนใจตามรอยกิจกรรมสามารถติดต่อได้ที่คุณโสภา ระฤก กลุ่มโฮมสเตย์บังไข่ เขาไข่นุ้ย วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เบอร์โทร.09-3227-8671 หรือ 08-1083-1609
ขณะที่ ผศ.ดร.อธิพันธ์ เสียมไหม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดพังงา กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในจังหวัดพังงา ในการจัดการต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชนอย่างหลากหลาย
ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และการอนุรักษ์ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยว และได้รับประโยชน์และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวจะช่วยทำให้ชุมชนให้มีศักยภาพในการจัดการการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.นพดล จันระวัง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดพังงา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ทางคณะวิทยาการจัดการ ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมกับการพัฒนานักศึกษาที่บูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ ของคณะ
ซึ่งผลผลิตครั้งนี้เป็นความร่วมมือของคณาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ และนักศึกษาของคณะวิทยาการจัดการ เพื่อให้การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา สามารถจัดการการท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจการเรียนรู้วิถีชุมชน และการมีส่วนร่วมระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าบ้านมากขึ้น
นอกจากนั้น คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในฐานะอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมีเป้าหมายสำคัญของมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนางานวิชาการและพัฒนาท้องถิ่น จึงแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญเปรียบเสมือนรากแก้วการท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมกับการเติบโตของเมืองท่องเที่ยวในแถบอันดามัน ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและการพึ่งพาตนเอง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคม และภาควิชาการ