ชุมพร - ชุมพรจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ในระบบกลุ่มหาด ตั้งแต่พื้นที่ตำบลเขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงตำบลบางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร
วันนี้ (21 เม.ย.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผวจ.ชุมพร เป็นประธานเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ในระบบกลุ่มหาด ตั้งแต่พื้นที่ ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว และภาคประชาชน ร่วมรับฟังข้อมูลโครงการ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ณ สตาร์ไลท์บีช รีสอร์ท ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร
นายจิรวัฒน์ สุวรรณลิขิต โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดชุมพร เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ให้ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างบูรณาการและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์และประชุมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ครั้ง และการประชุมเชิงวิชาการเฉพาะด้านวิศวกรรมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 1 ครั้ง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการ ครั้งที่ 1 พร้อมชี้แจงสรุปผลการศึกษาร่างแผนหลักแนวทาง และมาตรการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ระบบกลุ่มหาด
นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นระยะทางยาวกว่า 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด เป็นชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จำนวน 17 จังหวัด ความยาว 2,039.78 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 6 จังหวัด ความยาว 1,111.35 กิโลเมตร ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่หลากหลาย เช่น เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน กิจกรรมการท่องเที่ยว การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และท่าเรือ เป็นต้น
ดังนั้น ชายฝั่งทะเลจึงมีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลนั้นต่างประสบปัญหาการกัดเซาะตลอดแนวชายฝั่ง โดยมีระดับความรุนแรงและสาเหตุที่แตกต่างกันไป ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ละหน่วยงานมีรูปแบบการป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่หลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งนี้ หากรูปแบบการป้องกันการกัดเซาะที่เลือกใช้ไม่เหมาะสม จะทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและสิ้นเปลืองงบประมาณ